
เรื่องกุ้งกับโปรไบโอติก
เชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านน่าจะเคยบริโภคโยเกิร์ต หรือนมเปรี้ยวชนิดต่าง ๆ ที่คุ้นเคยกันดีก็อย่างเช่นยาคูลท์ แอคทีเวีย บีทาเก้น เป็นต้น ประโยชน์สำคัญของของผลิตภัณฑ์เหล่านี้อยู่ที่โปรไบโอติก หรือ จุลินทรีย์ชนิดดีที่มีชีวิต ยิ่งสายพันธุ์ที่มีคุณภาพ หัวเชื้อจุลินทรีย์เหล่านี้ยิ่งมีราคาสูงและเป็นที่ต้องการของตลาด แบคทีเรียจำพวก Lactobacillus spp. หรือ Bifidobacterium spp. เหล่านี้มีประโยชน์ในการช่วยปรับสมดุลในระบบทางเดินอาหาร ปรับสภาพให้ทางเดินอาหารมี pH ที่เหมาะสม ช่วยผลิตกรดอะมิโนที่มีประโยชน์ต่อร่างกายนอกจากนี้การยึดเกาะที่ผนังลำไส้ของจุลินทรีย์ชนิดดีเหล่านี้ ยังช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อก่อโรคจับที่ผิวเยื่อบุลำไส้ ลดการก่อโรคทางเดินอาหาร และช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายได้อีกด้วย ประโยชน์มากมายของโปรไบโอติก ทำให้จุลินทรีย์เหล่านี้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในวงการปศุสัตว์ โดยส่วนมากนิยมผสมในอาหารให้สัตว์กินเพื่อส่งเสริมให้ระบบทางเดินอาหารของสัตว์ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สัตว์มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ลดโอกาสเจ็บป่วยจากภาะวะท้องเสียหรือโรคจากทางเดินอาหารอื่น ๆ ในวงการผู้เลี้ยงกุ้ง โปรไบโอติกได้ถูกนำมาใช้เช่นกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของกุ้งและเพื่อเป็นทางเลือกในการจัดการปัญหาจุลินทรีย์ก่อโรคทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะ เชื้อจุลินทรีย์ที่นิยมนำมาใช้ได้แก่ Bacillus spp. เช่น B. subtilis และ B. licheniformis จากงานวิจัยที่ผ่านมา เช่น งานวิจัยของกรมประมงโดย นิตยา ยิ้มเจริญและคณะ พบว่า การให้ B. subtilis ร่วมกับ B. licheniformis ผสมอาหารให้กุ้งกุลาดำในอัตราส่วน 1:1 เป็นปริมาณ 3 กรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม มีผลทำให้ระดับภูมิคุ้มกันของกุ้งสูงขึ้น และสามารถลดปริมาณของจุลินทรีย์ก่อโรคชนิด Vibrio spp. ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ผลงานวิจัยของ Alvin M. Doroteo ซึ่งทำการศึกษาเชื้อ Bacillus spp. ที่แยกได้จากเมือกของปลานิลและนำมาผสมอาหารให้กุ้งกุลาดำกิน พบว่าเชื้อดังกล่าวมีความสามารถในการลดจำนวนเชื้อก่อโรค V. harveyi ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้กุ้งมีอัตราการรอดที่สูงขึ้นและกุ้งมีภูมิต้านทานที่ดี สามารถทนทานต่อแอมโมเนียในน้ำได้มากกว่ากุ้งที่ไม่ได้รับเชื้อดังกล่าว ผลงานวิจัยนี้มีความสอดคล้องกับทฤษฎีการเลี้ยงกุ้งขาวร่วมกับปลานิลแบบผสมผสานในบ่อเดียวกัน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงให้กับเกษตรกรแล้ว เชื้อ Bacillus spp. ที่อยู่บริเวณเมือกของผิวปลานิลยังสามารถลดปริมาณเชื้อ V. harveyi ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคในกุ้งได้อีกด้วย จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าโปรไบโอติกนั้นมีประโยชน์ค่อนข้างมาก การนำมาใช้เลี้ยงกุ้งจึงเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่งสำหรับเกษตรกรในการลดปัญหากุ้งป่วย เจริญเติบโตไม่สม่ำเสมอ และช่วยลดการใช้ยาปฏิชีวนะ แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าโปรไบโอติกแบบไหนถึงจะเอามาใช้แล้วดี มันต้องมีวิธีการเลือกใช้โปรไบโอติกในกุ้งค่ะ โปรดติดตามนะคะ สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม)
|