OIE องค์การสุขภาพสัตว์โลก ตอนที่ 1
ครั้งก่อนพูดถึงไปนิดๆ หน่อยๆ เกี่ยวกับองค์การสุขภาพสัตว์โลก (World Organisation for Animal Health, OIE) ว่าเป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนาวิชาการเกี่ยวกับการจัดการสุขภาพสัตว์น้ำระดับโลก คืองาน OIE Global Conference on Aquatic Animal Health: Collaboration, sustainability: our future เมื่อเมษายน 2562 ที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้แนะนำให้รู้จักเป็นเรื่องเป็นราวเลยว่า OIE องค์กรนี้คืออะไร มีบทบาทหน้าที่อะไร
ผู้อ่านบางท่านอาจเคยได้ยินชื่อ OIE มาบ้างแล้ว ถ้าจะอธิบายง่ายๆ สั้นๆ ก็จะขอให้ลองนึกถึงองค์การอนามัยโลกดู ที่เราจะคุ้นเคยกันมากหน่อย WHO (World Health Organization) มีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านสาธารณสุข สุขภาพคน ให้ความช่วยเหลือประเทศต่างๆ ที่ร้องขอความต้องการเกี่ยวกับสุขภาพ ส่งเสริม ประสานงาน การวิจัยบปัญหาสุขภาพต่างๆ รวมทั้งแก้ปัญหาโรคระบาด และโรคที่ยังไม่มีวิธีรักษา เช่น ซาร์ส สำหรับองค์การสุขภาพสัตว์โลก หรือ OIE เปรียบเทียบแล้วก็คล้ายๆ กับเป็น WHO ฝั่งสัตว์นั่นแหละค่ะ แต่มีรายละเอียดต่างกันเล็กน้อย เพราะต้องคำนึงถึงเรื่องของสุขภาพสัตว์ สวัสดิภาพสัตว์ ควบคู่กับการเคลื่อนย้ายสัตว์ การค้าสัตว์และผลิตภัณฑ์อาหารจากสัตว์ ที่ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนและสัตว์ด้วย OIE มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ 182 ประเทศ OIE มีหน้าที่หลักในการ (1) พัฒนาสุขภาพสัตว์ สวัสดิภาพสัตว์และการสัตวแพทย์สาธารณสุขทั่วโลก โดยการจัดทำข้อกำหนดหรือมาตรฐานด้านสุขภาพสัตว์บกและสัตว์น้ำ เพื่อเป็นมาตรฐานกลางของประเทศสมาชิกที่ใช้สำหรับการอ้างอิงและเจรจาทางการค้าสัตว์และผลิตภัณฑ์อาหารจากสัตว์ เพื่อขจัดปัญหาและอุปสรรคด้านการค้าในระดับประเทศ (ประเทศสมาชิกมีสิทธิ์และสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรฐานและข้อกำหนดสุขภาพสัตว์ของ OIE ได้ เพื่อให้มาตรฐานที่กำหนดขึ้นเป็นที่ยอมรับของประเทศสมาชิก สามารถปฏิบัติได้จริง ช่วยคุ้มครองสุขภาพสัตว์และคน รวมทั้งเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกในภาพรวม) นอกจากนี้ OIE ยังส่งเสริมให้มีการปฏิบัติต่อสัตว์โดยมีสวัสดิภาพสัตว์ หรือ animal welfare อีกด้วย (2) แบ่งปัน เผยแพร่ข้อมูลที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับโรคสัตว์ การควบคุมโรคสัตว์ สถานการณ์ทั่วโลก ให้ประเทศสมาชิกทราบ เพื่อใช้ในการปรับปรุงวิธีการควบคุมและกำจัดโรคให้สอดคล้องกับมาตรฐานด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS Agreement) และความตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคทางการค้าภายใต้องค์การการค้าโลก (World Trade Oraganization, WTO) (3) รวบรวม วิเคราะห์ เผยแพร่ข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง และ (4) พัฒนาความร่วมมือให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของนานาชาติ เพื่อการควบคุมโรคสัตว์ที่เกิดขึ้นในระดับโลกมีประสิทธิภาพสูงสุด ครั้งหน้ามาอ่านกันต่อว่าในองค์กรระดับนี้ที่มีบทบาทหน้าที่ขนาดนี้ เขามีวิธีการทำงานเป็นยังไงนะคะ สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม)
|