
OIE องค์การสุขภาพสัตว์โลก ตอนที่ 2
ต่อจากบทความครั้งก่อนหน้านี้ มีข้อคำถามว่าบทบาทหน้าที่เยอะขนาดนั้น ครอบคลุมการดูแลสุขภาพสัตว์ทั้งสัตว์บก สัตว์น้ำ คุณภาพของการบริการทางสัตวแพทย์ แล้วองค์การสุขภาพสัตว์โลกมีวิธีการทำงานอย่างไร? องค์กรนี้เป็นองค์กรภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO – World Trade Organization) นี้ขับเคลื่อนโดยการควบคุมของผู้แทนสมัชชาโลก (World Assembly of Delegates) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทน (Delegates) ที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลของประเทศสมาชิกทั้งหมด การดำเนินงานประจำวันของ OIE นั้น มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของอธิบดี (Director General) ที่ได้รับการเลือกตั้งจากสมัชชาผู้แทนโลก (World Assembly of Delegates) สำนักงานใหญ่จะดำเนินการตามมติที่ผ่านคณะกรรมการระหว่างประเทศ (International Committee) และได้รับการพัฒนางานตามแผนงาน โดยได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการที่ได้รับการคัดเลือกโดยผู้แทนสมาชิก เงินของ OIE ได้มาจากเงินช่วยเหลือประจำปีที่ได้รับการสนับสนุนจากการบริจาคตามความสมัครใจของประเทศสมาชิก โครงสร้างการดำเนินงานของ OIE ประกอบด้วย สภา (Council) คณะกรรมการระดับภูมิภาค (Regional Commissions) และคณะกรรมาธิการทางเทคนิคเฉพาะด้าน (Specialist Technical Commissions) - สภาประกอบด้วยประธานาธิบดีสมัชชาโลก (President of the World Assembly of Delegates) รองประธานาธิบดี อดีตประธานาธิบดีสมัยก่อนหน้า และผู้แทนหกคนที่เป็นตัวแทนของทุกภูมิภาค ซึ่งทุกตำแหน่งที่กล่าวมาจากการเลือกตั้งของสมาชิกทั้งหมด (ยกเว้นอดีตประธานาธิบดี) สมาชิกในสภาจะดำรงตำแหน่งเป็นระยะเวลาสามปี ในรอบหนึ่งปีสภาจะมีการประชุมอย่างสองครั้ง เพื่อพิจารณาประเด็นปัญหาทางเทคนิคและการบริหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนงานของ OIE โครงการและงบประมาณเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมสามัญประจำปี - คณะกรรมการระดับภูมิภาคของ OIE มีอยู่ 5 ภูมิภาค เพื่อพิจารณาการดำเนินงานและปัญหาของสมาชิกในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก คณะกรรมการระดับภูมิภาค ได้แก่ คณะกรรมการภูมิภาค Africa คณะกรรมการภูมิภาค Americas คณะกรรมการภูมิภาค Asia, Far East and Oceania (ไทยอยู่ในกลุ่มนี้) คณะกรรมการภูมิภาค Europe และคณะกรรมการภูมิภาค Middle East คณะกรรมาธิการระดับภูมิภาคแต่ละแห่งจะมีการประชุมประเทศสมาชิกในภูมิภาคทุกสองปี โดยเป็นการพิจารณาประเด็นทางเทคนิคและการเสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อการควบคุมโรคสัตว์อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาแผนงานระดับภูมิภาคเพื่อเสริมสร้างการเฝ้าระวังและควบคุมโรคที่สำคัญของสัตว์ ผลการประชุมของคณะกรรมาธิการระดับภูมิภาคจะนำเสนอในที่ประชุมสามัญประจำปี - คณะกรรมาธิการทางเทคนิคเฉพาะด้าน มีบทบาทในการนำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นปัจจุบันมาพิจารณาและศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาด้านระบาดวิทยาและการป้องกันและควบคุมโรคสัตว์ แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานที่ OIE กำหนดให้ทันต่อสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงของการเกิดโรคที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมทั้งแก้ไขปัญหาด้านเทคนิคที่ประเทศสมาชิกยังขัดข้อง ปัจจุบัน OIE กำลังดำเนินการปรับปรุงกระบวนการพัฒนามาตรฐานให้มีความโปร่งใส เพื่อให้มาตรฐานและข้อกำหนดที่จัดทำได้รับการยอมรับจากประเทศสมาชิกมากที่สุด และส่งผลให้ประเทศสมาชิกนำมาตรฐานไปใช้ดำเนินการ งานทั้งหมดของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของ OIE มีการเผยแพร่ในเว็บไซต์ของ OIE ซึ่งทุกคนที่เข้าถึงอินเตอร์เนตสามารถสืบค้นได้ คณะกรรมาธิการทางเทคนิคเฉพาะด้าน มี 4 คณะ ดังนี้ (1) คณะกรรมาธิการกำหนดมาตรฐานสุขภาพสัตว์บก The Terrestrial Animal Health Standards Commission (Terrestrial Code Commission) (2) คณะกรรมาธิการวิทยาศาสรตร์สำหรับโรคสัตว์ The Scientific Commission for Animal Diseases (Scientific Commission) (3) คณะกรรมาธิการกำหนดมาตรฐานทางชีวภาพ The Biological Standards Commission (Laboratories Commission) และ (4) คณะกรรมาธิการกำหนดมาตรฐานสุขภาพสัตว์น้ำ Aquatic Animal Health Standards Commission (Aquatic Animals Commission)
ครั้งหน้าจะเล่าให้ฟังว่ามาตรฐานด้านสุขภาพสัตว์น้ำขององค์การสุขภาพสัตว์โลก มีความสำคัญอย่างไร และเกี่ยวข้องยังไงกับความท้าทายของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในอนาคตค่ะ สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม)
|