
Climate change ภาวะโลกร้อนกับสุขภาพของปลา (1)
ต้นปีที่ผ่านมาลูกเพจท่านไหนไปเที่ยวฉลองปีใหมม่ หรือกลับบ้านแถบเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แล้วเจอลูกเห็บบ้างหรือเปล่า ปีนี้หมอไม่ได้ออกจากบ้านไปไหน ได้นั่งฟังข่าวนี้เห็นว่าบ้านเรือนเสียหาย เสาไฟฟ้าหักโค่นก็เยอะ ต้องฟื้นฟูขนานใหญ่เหมือนกัน ก็เลยคิดว่าวันนี้เขียนเรื่องนี้ให้อ่านกันเบาๆ รับปีใหม่ก็น่าสนใจดี เริ่มต้นปีส่วนใหญ่ร้านสะดวกซื้อและห้างก็ไม่แจกถุงพลาสติกกันแล้ว รณรงค์ให้พกถุงมาเอง จะใช้ถุงผ้าหรือพกถุงพลาสติกมาเองก็ดีทั้งนั้นค่ะ นำมาใช้ซ้ำให้มากที่สุดลดการผลิต ลดขยะ และลดภาวะโลกร้อน Climate change หรือ ภาวะโลกร้อน ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราก็เห็นได้ชัดเจน จากการที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ฝนเปลี่ยนฤดูทำให้เจอข่าวน้ำแล้งหรือไม่ก็น้ำท่วมหลายพื้นที่เท่าโลกเลย ปีที่แล้วที่จำข่าวได้แม่นคือ น้ำท่วมที่กรุงเวนิส อิตาลี นอกจากคนจะเดือดร้อนแล้วสัตว์ก็เดือดร้อนไปด้วย Climate change หรือภาวะโลกร้อนมีผลกับสุขภาพของปลา และมีผลกระทบต่อระบบการเลี้ยงปลาโดยเฉพาะฟาร์มที่ต้องใช้แหล่งน้ำจากธรรมชาติหรือชายฝั่ง ภาวะโลกร้อนหรือที่เราคุ้นหูกับคำว่า “Climate change” ทำให้เกิดความท้าทายในระบบการเลี้ยง ซึ่งในแวดวงเกษตรกรอย่างเราต้องรู้เท่าทันสถาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลง (ติดตามโพสท์เรื่องน้ำท่า อากาศก็ช่วยในการวางแผนงานได้ระดับหนึ่ง) เช่น การเกิดมรสุม อุณหภูมิอากาศที่ร้อนขึ้น ภาวะที่มหาสมุทรมีความเป็นกรดเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนระดับน้ำทะเลและความเค็มที่เปลี่ยนแปลง สิ่งที่สำคัญก็คือ สิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อสุขภาพของปลาอย่างมาก มีการคาดการว่าถ้าโลกเรามีอุณหภูมิร้อนขึ้น 2 องศาเซลเซียส จะมีผลทำให้พื้นที่ของโลกราวๆ 25% เกิดภาวะแห้งแล้ง ผลกระทบที่ตามมาคือการขาดแคลนน้ำ น้ำในแหล่งน้ำและน้ำในระบบเลี้ยงก็จะระเหยไปด้วย นั่นก็คือปริมาณน้ำที่ลดลงทำให้ความหนาแน่นในการเลี้ยงปลามากขึ้น เกิดการสะสมของของเสียที่ขับออกจากตัวปลา เช่น แอมโมเนีย คาร์บอนไดออกไซด์ ไนไตรท์ นอกจากนี้ ความผันผวนของอากาศทำให้เกิดภาวะมรสุมและน้ำท่วมบ่อยมากขึ้น และการระบายน้ำที่ท่วมขังจะทำให้ความเค็มของน้ำลดลง รวมทั้งน้ำที่ระบายมาจะมีโคลนหรือสิ่งปฏิกูลปนมา เราจะพบข่าวปลาน็อคน้ำตายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยมีแล้วในปี 2554 สำหรับอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้นก็มีผลต่อปลา มีการคาดการอีกเหมือนกันว่าในปี 2643 น้ำทะเลจะร้อนขึ้นอีก 4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิของน้ำในกระชังก็จะเพิ่มขึ้นด้วยมีผลต่อการทำงานของระบบสรีระของปลา เช่น เมื่ออุณหภูมิน้ำสูงขึ้น ออกซิเจนจะละลายในน้ำลดลงทำให้ปลาต้องใช้พลังงานมากในการแลกเปลี่ยนอากาศและทำให้ปลาโตช้า คาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศที่เพิ่มขึ้นจะละลายในน้ำทะเล ทำให้น้ำมีความเป็นกรดเพิ่มมากขึ้น ความเป็นกรดจะส่งผลเสียต่อสมดุลของแคลเซียมในตัวปลา ทำให้ปลาโตช้า หอยมีเปลือกเปราะบางมากขึ้น สำหรับความเค็ม (Salinity) ของน้ำก็เปลี่ยนไปด้วย สาเหตุเกิดจากการระบายน้ำจืดหลังน้ำท่วมลงในทะเล การละลายของน้ำแข็งขั้วโลก ภาวะแล้ง หรือการระเหยของน้ำจากอากาศที่ร้อนขึ้นทุกวัน ความเค็มมีผลต่อสมดุลแร่ธาตุและระบบการทำงานในร่างกายของปลา ไม่ว่าจะเป็นการอัตราการแลกเนื้อ ระบบฮอร์โมนที่มีผลต่อการทำงานของร่างกายโดยเฉพาะระบบสืบพันธุ์ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าระดับความเค็มที่เปลี่ยนไปมีผลต่อระดับความเสี่ยงในการเกิดโรคจุดขาวในกุ้ง การควบคุมสภาวะโลกร้อนให้หยุดชะงักเป็นเรื่องใหญ่ใกล้ตัวที่ต้องร่วมมือกันแก้ไข แต่การฟื้นฟูต้องใช้เวลานาน ดังนั้นสำหรับแวดวงการเลี้ยงสัตว์ต้องมีการเตรียมความพร้อมต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปที่มีผลกระทบต่อการเลี้ยงปลา มาตราการหรือแนวทางที่มีในปัจจุบันจะมีอะไรบ้าง โปรดติดตามต่อไปได้ในตอน 2 ค่ะ สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม)
|