Climate change ภาวะโลกร้อนกับสุขภาพของปลา (2)
ติดตามกันต่อกับเรื่องโลกร้อน เมื่อเราทราบแล้วว่าภาวะโลกร้อนส่งผลเสียต่อสุขภาพและระบบการเลี้ยงปลาไปแล้ว จะมีมาตรการหรือแนวทางอะไรบ้าง ที่จะช่วยให้สามารถปรับตัวเข้ากับความท้าท้ายที่เกิดจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม จากการสำรวจผลกระทบของภาวะโลกร้อนต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์น้ำในหลายทวีปทั่วโลก ทั้งในเอเชีย สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร พบเหตุการณ์น่าสนใจที่เป็นผลพวงจากภาวะโลกร้อน เช่น ในช่วงที่เกิดพายุมีการไหลของน้ำเค็มลงมาสู่บ่อเลี้ยง ปลาหนีออกจากบ่อตอนที่เกิดน้ำท่วม ตอนที่ระดับน้ำทะเลหนุนทำให้คันดินเกิดความเสียหาย การเปลี่ยนแปลงระดับของความเค็มของน้ำทำให้เกิดการตายของปลาน้ำจืด ปลาเจริญเติบโตช้า ปลาอื่นหรือสัตว์อื่นและสาหร่ายที่ไม่ต้องการปะปนหลุดรอดเข้ามาในบ่อเกิดการทำลายสมดุลระบบนิเวศน์ในบ่อและเป็นศัตรูกับปลาที่เลี้ยง ค่า pH ขึ้นๆ ลงๆ คุณภาพน้ำลดลงเกิดแพลงตอนบูมเพิ่มมากขึ้น อุณหูมิที่เพิ่มขึ้นเท่ากับเพิ่มระดับความเค็มเพราะน้ำในบ่อระเหยไวขึ้น รวมถึงการเกิดโรคด้วย ในประเทศอินเดียและบังคลาเทศบริเวณที่มีการเลี้ยงปลาชายฝั่งที่เจอกับพายุหมุนไซโคลน มักพบปัญหาน้ำล้นบ่อทำให้ปลาหลุดไปจากฟาร์ม เกษตรกรจึงต้องทำการออกแบบบ่อใหม่ สร้างคันดินรอบบ่อให้แข็งแรงขึ้นและปรับความกว้าง ความชันของขอบบ่อ ปลูกพืชคลุมดิน พร้อมกับพัฒนาระบบเปลี่ยนถ่ายน้ำเพื่อระบายน้ำที่มีความเค็มสูงขึ้นในช่วงฤดูแล้งออก แล้วเติมน้ำจืดเข้าไปเพื่อปรับความเค็มให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงคุณภาพน้ำโดยเติมปูนขาวเพื่อควบคุมโรคด้วย ในภาคเหนือของประเทศไทยมีการลดความเสี่ยงโดยการปรับระยะเวลาเลี้ยงให้เหมาะสม โดยหลีกเลี่ยงช่วงที่มีโอกาสเสี่ยงต่ออุทกภัย มีการเฝ้าระวังและระบบแจ้งเตือนปริมาณน้ำและคุณภาพในแม่น้ำหรือห้วย หนอง สำหรับการตั้งรับในระยะยาวเกษตรกรต้องพัฒนาปลาที่นทานมากขึ้น ต้องเลี้ยงปลาสายพันธุ์ทนความเค็ม หรือปลาที่เลี้ยงได้ในน้ำกร่อย ปลูกพืชทนความเค็มรอบบ่อ เพิ่มการปลูกป่าชายเลน นอกจากนี้ยังมีข้อแนะนำในการปรับระบบการเลี้ยงเพิ่มเติม เช่น การเลี้ยงเชิงผสมผสาน โดยเลี้ยงปลาในนาข้าวหรือเลี้ยงปลาร่วมกับสัตว์น้ำชนิดอื่น หรือสาหร่ายทะเลเพื่อเป็นการบำบัดของเสีย หรือการเลี้ยงปลาในระบบน้ำหมุนเวียน (Recirculating Aquaculture System, RAS) ที่ติดตั้งระบบกรองน้ำชีวภาพ (biofiltration) เพื่อให้สามารถควบคุมปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมได้ดียิ่งขึ้น ช่วยลดและป้องกันภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน แนวทางและมาตรการที่ว่ามาสามารถช่วยลดความเสียหายจากความแปรปรวนทางธรรมชาติ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ แม้ในบางพื้นที่สิ่งเหล่านี้อาจดูไกลตัว แต่อย่างที่บอกตั้งแต่บทความคราวที่แล้ว เรื่องภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องใกล้ตัวจริงๆ และยังพบข่าวในหลายประเทศแล้ว เพื่อให้การผลิตสัตว์น้ำและเศรษฐกิจมีความมั่นคง สิ่งสำคัญในภาวะปัจจุบันนี้ ก็คือ การดูแลและใส่ใจสิ่งแวดล้อมและรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์ เริ่มต้นได้เลยที่ตัวเอง เพื่อคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และความมั่นคงทางอาหารต่อไปในอนาคต สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม)
|