ความลับของปลาเนื้อสีส้ม: เรื่องที่น่าสนใจของปลาแซลมอน (1)
ปีใหม่ที่ผ่านมามีเมนูปลาแซลมอนในงานเลี้ยงฉลองกันด้วยหรือเปล่าคะ ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าเนื้อปลาแซลมอนมีขายเพิ่มมากขึ้น ทั้งในร้านซูซิ ร้านปิ้งย่าง ร้านสเต็ก หรือทางออนไลน์ และมีขายหลายราคา ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมีราคาสูงเพราะความอร่อยและมีโอเมก้าสูง แซลมอนเป็นปลาขนาดใหญ่จัดอยู่ในตระกูลเดียวกับปลาเทราต์ และมีหลายสปีชีส์หรือชนิดพันธุ์ แต่แซลมอนที่นิยมนำมาบริโภค คือ Atlantic salmon ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Salmo salar ปลาแซลมอนตัวเต็มวัยมีน้ำหนักเฉลี่ยสูงถึง 4.5 กิโลกรัม มีอายุได้ถึง 8 ปี แซลมอนเป็นปลาสองน้ำ คือ สามารถมีชีวิตอยู่ได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม ลูกปลาแซลมอนจะเกิดในแหล่งน้ำจืดและกลับไปใช้ชีวิตเต็มวัยในน้ำทะเล และพอมีอายุได้ 2 ปีที่พร้อมจะผสมพันธุ์และวางไข่ มันจะเดินทางผจญภัยเพื่อกลับมาวางไข่ในแหล่งน้ำจืด ด้วยจำนวนปลาแซลมอนที่ลดลงจากการถูกล่าโดยมนุษย์หรือหมี ทำให้มีการนำปลาแซลมอนมาสู่ระบบการเพาะเลี้ยงตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ในสหราชอาณาจักรเป็นครั้งแรก ปัจจุบันประเทศผู้ผลิตปลาแซลมอนรายใหญ่ของโลก คือ นอร์เวย์ สกอตแลนด์ หมู่เกาะแฟโร แคนาดา สหรัฐอเมริกาตอนบน ชิลี ออสเตรเลีย การเลี้ยงปลาแซลมอนในเชิงอุตสาหกรรมจะคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่เลี้ยงในน้ำทะเลแล้วนำไปไว้ในถังหรือกระชังในน้ำจืดนาน 2 เดือน จากนั้นจึงนำมารีดไข่และน้ำเชื้อ ไข่จะถูกผสมกับน้ำเชื้อ จะมีการนำไข่มาล้างเพื่อฆ่าเชื้อก่อนนำไปฟัก หลังไข่ฟักจนเป็นลูกปลาวัยอ่อนระยะ fry จะถูกเลี้ยงในน้ำจืด จนเข้าสู่ระยะที่โตขึ้นเรียกว่าระยะ parr โดยสังเกตได้จากแถบสีดำข้างลำตัว ในระยะนี้แซลมอนจะเริ่มปรับสรีระให้เตรียมเข้าสู่การใช้ชีวิตในน้ำเค็ม และเมื่อเข้าระยะลูกปลาที่โตขึ้นอีกเรียกว่าระยะ smolt แซลมอนจะถูกนำไปเลี้ยงในน้ำทะเล เวลาที่ใช้เลี้ยงนานตั้งแต่ 1-2 ปี น้ำหนักที่ตลาดต้องการเฉลี่ยอยู่ที่ 5 กิโลกรัม นอกจากความซับซ้อนและระยะเวลาการเลี้ยงที่ยาวนาน ในการเลี้ยงแซลมอนยังสามารถพบปัญหาด้านโรคได้เช่นเดียวกับการเลี้ยงปลาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคไวรัส แบคทีเรียและปรสิต ซึ่งบางโรคเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและจำนวนแซลมอนที่เลี้ยง บางโรคถูกกำหนดให้เป็นโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศที่ต้องคำนึงถึงมากๆ เช่น โรคปลิงใส Gyrodactylus salaris ที่ทำลายอุตสาหกรรมแซลมอนในนอร์เวย์มาแล้ว โรค infectious salmon anaemia virus นอกจากนี้โรค Bacterial Kidney Disease (BKD) ที่เกิดจากแบคทีเรีย Renibacterium salmoninarum ก็เป็นโรคสำคัญในปลาแซลมอนวัยอ่อน การเลี้ยงแซลมอนมีต้นทุนสูงเนื่องจากต้องเลี้ยงในแหล่งน้ำคุณภาพดี และมีระบบการผลิตทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีมาใช้ในการปรับปรุงการผลิต อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมแซลมอนยังมีอุปสรรคเกี่ยวกับการก่อให้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากของเสียในระบบการเลี้ยงรวมถึงการใช้ยาและสารเคมี จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้ผลิตแซลมอนต้องพัฒนาการเลี้ยงให้ยั่งยืน บทความต่อไปจะเล่าถึงงานวิจัยเกี่ยวกับเนื้อและผลิตภัณฑ์แซลมอนค่ะ สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม)
|