
ความลับของปลาเนื้อสีส้ม: เรื่องที่น่าสนใจของปลาแซลมอน (2)
หลังจากที่เราอ่านบทความก่อนหน้านี้ไปแล้ว ก็พอจะเข้าใจได้ว่าทำไมเนื้อปลาแซลมอนถึงแพงนัก เพราะว่ามีต้นทุนสูงนี่เอง คราวนี้มาแบ่งปันข้อมูลด้านการค้าและงานวิจัยกันบ้างค่ะ ในปี 2562 ปริมาณการค้าแซลมอนในตลาดโลกสูงถึง 3.8 ล้านตัน เพราะแซลมอนถือเป็นอาหารทะเล หรือ seafood คุณภาพดีที่อุดมไปด้วยโปรตีน แคลซียม วิตามิน B3 วิตามินดี สังกะสี ไอโอดีน และโอเมก้า 3 ร้านค้านิยมดึงเอาสรรพคุณของแซลมอนมาใช้ในการส่งเสริมการขายที่อ้างอิงไปเรื่องสุขภาพ เช่น ลดการอักเสบและความดัน ลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง และซ่อมแซมผนังหลอดเลือด เรามาไขความลับกันดีกว่า ว่าทำไมแซลมอนจึงขึ้นชื่อเรื่องของไขมันดีที่ร้านค้าชอบโฆษณากัน โอเมก้า 3 มีสองชนิด คือ EPA (eicosapentaenoic acid) และ DHA (Docosahexaenoic acid) ที่พบมากในน้ำมันปลา และไขมันพวกนี้อยู่ในองค์ประกอบของเซลล์และไขมันที่แทรกตามกล้ามเนื้อ และอาหารที่ใช้เลี้ยงแซลมอนก็มีผลต่อระดับ EPA และ DHA แซลมอนเป็นปลากินเนื้อซึ่งอาหารที่เลี้ยงจะมีส่วนผสมของน้ำมันปลาและปลาป่นซึ่งเป็นแหล่งของ EPA และ DHA ตามห่วงโซ่อาหาร อ่านแล้วรู้สึกว่าทานแซลมอนแล้วมีข้อดีเยอะจัง แต่การบริโภคแซลมอนเป็นประจำก็มีข้อที่ต้องคำนึงด้วย เพราะในปี 2547 องค์การอนามัยโลก หรือ WHO รายงานพบการปนเปื้อนของสารกลุ่มไดออกซิน (dioxin) และ PCBs ในฟาร์มเลี้ยงแซลมอนจำนวนมาก สารเหล่านี้เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นจากการกระทำของมนุษย์หรือปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ เช่น การเผาขยะ ของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ไฟป่า หรือภูเขาไฟระเบิด ไดออกซินและ PCBs เป็นสารระคายเคืองและอาจก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ และมีพบการถ่ายทอดสารจากแม่ไปลูกได้ผ่านการดื่มนมแม่ การรับสัมผัสไดออกซินและ PCBs เกิดขึ้นได้จากการบริโภคตามลำดับในห่วงโซ่อาหาร อาหารเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีน้ำมันปลาและปลาป่นเป็นองค์ประกอบมีการปนเปื้อนของสารเหล่านี้สูง เพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาพผู้บริโภค WHO ร่วมกับ FAO จึงมีการศึกษาเกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยง ซึ่งพบว่าการทานปลาแซลมอนสัปดาห์ละหนึ่งถึงสองครั้ง ยังอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยถ้าผู้บริโภครับประทานอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนต่ำ เพื่อให้การจัดการความเสี่ยงจากสารดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ WHO จึงขอให้ประเทศต่างๆ มีนโยบายในการกำจัดการปล่อยสารไดออกซินและ PCBs โดยหยุดการใช้สาร Persistent Organic Pollutants (POPs) จำนวน 12 รายการ ตัวอย่าง POPs ได้แก่ ยาฆ่าแมลง สารตัวทำละลาย สารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ เพื่อความปลอดภัยทางอาหาร และการค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ของแต่ละประเทศ สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม)
|