
ยกระดับ from farm-to-table ด้วยสี่เสาหลักด้านคุณภาพ หลายปีที่ผ่านมานอกจากการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกอย่างต่อเนื่องและพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป คนหันมาบริโภคโปรตีนจากสัตว์น้ำมากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์น้ำและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมีการขยายตัวและพัฒนาอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมปศุสัตว์อื่นๆ จะเห็นว่าอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์น้ำยังมีปัจจัยที่ต้องเร่งส่งเสริมเพื่อสนับสนุนการขยายตลาด ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความพึงพอใจของผู้บริโภค กลยุทธทางการตลาด ความปลอดภัยอาหารและความยั่งยืน สิ่งเหล่านี้ช่วยผลักดันให้เกิดระบบการจัดการคุณภาพขึ้น ซึ่งระบบนี้ช่วยลดผลกระทบจากความเสียหายของสินค้าหรือการปนเปื้อนระหว่างการผลิตและขนส่ง หัวใจหลักของระบบการจัดการคุณภาพ ประกอบด้วย (1) การคงไว้ซึ่งความสดใหม่ (2) ความปลอดภัย (3) การตามสอบ และ (4) ผลผลิตเป็นของจริงของแท้ โดยวิธีปฏิบัติสามารถหาอ่านได้จากเอกสารมาตรฐานที่เกี่ยวกับระบบการจัดการคุณภาพ ซึ่งจะช่วยยืนยันความปลอดภัยและความมีคุณภาพต่อประเทศคู่ค้าได้ รวมถึงเพิ่มมูลค่าสินค้าอีกด้วย อธิบายเรื่องสี่เสาหลักด้านคุณภาพเพิ่มเติมเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นประมาณนี้ - การคงไว้ซึ่งความสดใหม่ (freshness) หมายถึง ผลิตผลจากสัตว์น้ำต้องมีลักษณะใกล้เคียงกับสภาพหลังจับสัตว์น้ำขึ้นมาจากแหล่งที่เลี้ยง โดยใช้การประเมินคุณภาพสัตว์น้ำด้วยประสาทสัมผัส การตรวจคุณสมบัติทางเคมีและกายภาพ และการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ จะมีวิธีปฏิบัติยังไงสามารถดูรายละเอียดได้จากเอกสารมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีในการดูแลรักษาหลังการจับสัตว์น้ำ ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมข้อกำหนดการปฏิบัติที่ดีในการดูแลรักษาสัตว์น้ำ ตั้งแต่หลังการจับ การขนส่งสัตว์น้ำจนถึงการส่งมอบเพื่อรักษาคุณภาพรวมทั้งความปลอดภัยของสัตว์น้ำให้เหมาะสมสำหรับการนำไปบริโภคหรือแปรรูปเพื่อเป็นอาหารต่อไป นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์มาช่วยในการรักษาสภาพให้สดใหม่อีกด้วย - ความปลอดภัย (safety) หมายถึง ผลิตผลจากสัตว์น้ำต้องปลอดภัยต่อการบริโภค ต้องมีระดับการปนเปื้อนของโลหะหนัก ยาฆ่าแมลง สารเติมแต่ง สารรักษาสภาพ ไม่เกินกว่าระดับที่กำหนด และปราศจากเชื้อก่อโรค เช่น เชื้อแบคทีเรีย Salmonella, Vibrio หรือพยาธิ Anisakis รวมถึงไม่มีความเสี่ยงต่ออันตรายทางกายภาพ เช่น ก้าง โลหะ และไม่เสื่อมสภาพ ซึ่งวิธีการปฏิบัติที่ดีสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากเอกสารมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง หลักปฏิบัติสําหรับสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตวน้ำ เล่ม 1: ข้อกําหนดทั่วไป ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมระบบการเลี้ยง การจับสัตว์น้ำ การแปรรูปเบื้องต้น ตลอดจนการขนส่งและการจัดเก็บ - การตามสอบ (traceability) หมายถึง การติดตามที่มาและที่ไปของสินค้าตามขั้นตอนการผลิต การจัดการ การแปรรูป และการจำหน่าย เป็นประโยชน์ในการตรวจสอบหาสาเหตุที่เกี่ยวข้องในกรณีที่สินค้ามีข้อบกพร่องหรือถูกตีกลับ เพื่อให้การตามสอบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพควรมีการจัดเก็บข้อมูลที่ดี มีการออกแบบวิธีการตามสอบ บ่งชี้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนต่างๆ และในรายละเอียดของการปฏิบัติเรื่องนี้สามารถดูรายละเอียดได้จากเอกสารมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การตามสอบสินค้าเกษตรและอาหาร: หลักการและแนวทางสำหรับการออกแบบระบบ การตามสอบและการนำไปปฏิบัติ - ผลผลิตเป็นของจริงของแท้ หรือ การคงความจริงของผลิตผลไว้ (authenticity) หมายถึง การยืนยันว่าผลิตผลสัตว์น้ำมีลักษณะตามที่เป็นจริง ไม่ให้ข้อมูลที่เป็นเท็จเพื่อปกป้องประเด็นทางการค้า มีการติดฉลากที่ถูกต้อง มีการอนุรักษ์สัตว์น้ำที่กำลังจะสูญพันธุ์และดำเนินการปฏิบัติตามขั้นตอนศุลกากร การปฏิบัติตามหลักการด้านระบบคุณภาพเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในการเพิ่มศักยภาพการค้าและการส่งออกสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ ถึงแม้จะมีขั้นตอนต่างมากมายในรายละเอียดแต่ก็ช่วยส่งเสริมความปลอดภัยของผู้บริโภคและภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมสัตว์น้ำไทยเช่นกัน สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม)
|