
ความสำคัญของการรายงานการระบาดของโรคกับสุขภาพสัตว์น้ำ เคยสงสัยไหมว่าเวลาเกิดโรคระบาดขึ้นจำเป็นต้องบอกใครหรือเปล่า การรายงานการระบาดของโรคมีความสำคัญมากนะคะและเกี่ยวข้องกับการจัดการสุขภาพสัตว์น้ำเป็นอย่างมาก เกษตรกร สัตวแพทย์ นักวิชาการประมงและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์น้ำ มีส่วนสำคัญในการตั้งรับการเฝ้าระวังโรค (passive surveillance) โดยจะต้องร่วมกันรายงานการระบาดของโรคที่เกิดขึ้นในฟาร์มหรือพื้นที่เลี้ยงโดยรอบ การตรวจสอบ ตรวจวินิจฉัยการเกิดขึ้นของโรคในพื้นที่เป็นเรื่องสำคัญมากเนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ และระบบข้อมูลสุขภาพสัตว์น้ำ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ (Competent Authority, CA) หรือเจ้าหน้าที่รัฐ มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ นอกจากนี้เพื่อให้มั่นใจว่าการรายงานการระบาดของโรคเป็นภาระหน้าที่ของทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านสุขภาพสัตว์ และเพื่อให้เกิดการจัดทำข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของหน่วยงานภาครัฐและผู้ผลิต เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจจะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการรายงานโรคระบาดให้เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องทราบ ถ้าหากเกษตรกรมีความเข้าใจว่าการรายงานการระบาดของโรคมีความสำคัญ และมีประโยชน์ต่อการตัดสินใจสั่งดำเนินมาตรการการควบคุมและกำจัดโรคจะช่วยทำให้เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องเกิดแรงจูงใจในการรายงานการระบาดของโรค สำหรับประเทศไทยเองก็ยังคงมีความจำเป็นต้องปรับปรุง passive surveillance ด้านการรายงานการเกิดโรค เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลที่ได้จากการรายงานการระบาดของโรคช่วยสนับสนุนให้สัตว์น้ำมีสุขภาพที่ดีขึ้น การที่เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องขาดความตระหนักเรื่องการรายงานโรคจะมีผลต่อการตัดสินใจดำเนินการแก้ไขปัญหาในพื้นที่เกิดโรคและมีผลกระทบต่อสุขภาพสัตว์โดยรวม การรายงานโรคเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมโรคเฉพาะในท้องที่ซึ่งจะช่วยยกระดับสถานะสุขภาพสัตว์น้ำในพื้นที่ได้ รวมทั้งช่วยให้เกษตรกรและสัตวแพทย์มีการวางแผนเรื่องระบบการรักษา โปรแกรมฉีดวัคซีน การจัดการเรื่องสัตว์ทดแทน ระยะเวลาในเลี้ยงจัดการฝูงสัตว์พ่อแม่พันธุ์ และมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพ นอกจากนี้ยังช่วยให้หน่วยงานภาครัฐออกแบบแผนการสำรวจโรคในพื้นที่ได้ง่ายขึ้น จัดทำบัญชีโรคระบาดที่สำคัญในพื้นที่ ดำเนินการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของโปรแกรมควบคุมโรคที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ดำเนินการออกแบบโปรแกรมการกำจัดโรค และการจัดทำเขตควบคุมโรคที่ถูกต้องตามหลักวิชาการและสอดคล้องกับปัญหาที่พบ สำหรับองค์ประกอบที่สำคัญของระบบการรายงานโรค ประกอบด้วย การวิเคราะห์ข้อมูลอย่างรวดเร็วเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจให้ถูกต้อง ต้องมีแนวทางการเฝ้าระวังจากล่างขึ้นบน ก็คือจากระดับฟารืมไปจนถึงหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลควบคุมสุขภาพสัตว์นั่นแหละค่ะ ระบบการรายงานโรคนี้ควรยึดตามความต้องการของเกษตรกร และต้องมีวิธีการสื่อสารเพื่อให้เกษตรกรรู้ว่ามีการนำข้อมูลที่เกษตรกรให้กับภาครัฐมาใช้ในการวิเคราะห์และตัดสินใจในการกำหนดมาตรการสำหรับใช้แก้ไขปัญหา อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องการรายงานโรคระบาดที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นปัญหาแค่ในระดับฟาร์มหรือระดับประเทศ แต่ยังคงเป็นปัญหาในระดับนานาชาติด้วย ประเทศที่เป็นสมาชิก OIE มีหน้าที่ต้องรายงานข้อมูลการระบาดของโรคสัตว์ผ่านระบบข้อมูลสุขภาพสัตว์โลก (World Animal Health Information System, WAHIS) ซึ่งปัจจุบันยังพบว่ามีรายงานการระบาดของโรคผ่านระบบดังกล่าวไม่มากเท่าที่ควร ไว้มีโอกาสจะเล่าให้ฟังเรื่องระบบ WAHIS ค่ะ (passive surveillance เล่าง่ายๆ คือ เป็นการเฝ้าระวังแบบตั้งรับ เป็นระบบที่ผู้ใช้ข้อมูล ในที่นี้คือหน่วยงานภาครัฐไม่ได้เป็นผู้ออกไปดำเนินการสำรวจเพื่อรวบรวมข้อมูลโรค แต่เป็นการดำเนินการรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงาน หรือบุคคลอื่นที่แจ้งมาให้รัฐทราบ) สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม)
|