
เรื่องกุ้งกับโปรไบโอติก (2) จากบทความเรื่องกุ้งกับโปรไบโอติกครั้งที่แล้ว ก็พอจะเป็นที่ทราบกันดีว่า โปรไบโอติกถือเป็นตัวช่วยสำคัญในการส่งเสริมให้กุ้งโตไว มีสุขภาพแข็งแรงปลอดจากโรค เป็นทางเลือกของผู้เลี้ยงกุ้งที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยาต้านจุลชีพ หรือยาฆ่าเชื้อ แต่จะรู้ได้ยังไงว่าการใช้โปรไบโอติกอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับสภาพการเลี้ยงกุ้งของแต่ละฟาร์มกันค่ะ คิดง่ายๆ สิ่งแรกคือโปรไบโอติกชนิดนั้นๆ จะต้องไม่เป็นพิษกับกุ้งและสภาพแวดล้อมที่เราเลี้ยง สังเกตได้หลังจากที่ให้โปรไบโอติกไปแล้ว คุณภาพน้ำในบ่อยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ กุ้งมีอัตราการโตที่ดีขึ้น มีอัตราการป่วยและตายน้อยลง ภาพรวมมีแนวโน้มดีขึ้นไม่ใช่แย่ลง ผู้เลี้ยงควรหมั่นตรวจคุณภาพน้ำตอนที่เริ่มใช้โปรไบโอติกและระหว่างการใช้ เนื่องจากหากเกิดความผิดปกติจะได้แก้ไขได้ทันท่วงที สำหรับการเลือกชนิดของแบคทีเรียโปรไบโอติกที่นำมาใช้เลี้ยงกุ้ง นอกจาก Bacillus spp. แล้ว โปรไบโอติกชนิดที่พบว่ามีการใช้มากก็คือ Lactobacillus acidophilus มีรายงานพบว่า Bacillus subtilis เป็นแบคทีเรียชนิดที่สามารถทนต่อความเค็มได้ค่อนข้างดี มีประโยชน์ในการปรับสมดุลสภาพน้ำ ช่วยเรื่องการเจริญเติบโตของกุ้งอย่างได้ผล นักวิจัยจึงนิยมนำมาใช้ในการทดลอง งานวิจัย และแนะนำให้เกษตรกรนำไปใช้ ควรใช้โปรไบโอติกในปริมาณที่เหมาะสม เพราะหากให้เชื้อแบคทีเรียชนิดใดชนิดหนึ่งในปริมาณที่มากจนเกินความพอดี อาจทำให้สภาพแวดล้อมเสียสมดุลและเกิดความเป็นพิษได้ เช่น แบคทีเรีย Bacillus subtilis มีอัตราการใช้อากาศมาก โดยทั่วไปมักไม่เป็นอันตราย แต่หากมีการใช้แบบเร่งด่วนฉับพลันในปริมาณมาก ๆ จะทำให้ออกซิเจนในบ่อเลี้ยงลดลงกว่าปกติได้ ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์แบคทีเรียโปรไบโอติกสำหรับใช้ในสัตว์น้ำและสัตว์ปศุสัตว์ที่ได้ขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ไว้ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ผู้เลี้ยงสามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมของสภาพฟาร์ม ผู้เลี้ยงควรใช้แบคทีเรียโปรไบโอติกในปริมาณที่แนะนำตามฉลากข้อบ่งใช้ ร่วมกับการตรวจสอบคุณภาพน้ำอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้การนำไปใช้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด
สำหรับบทความนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับท่านที่ยังไม่เคยลองใช้โปรไบโอติกในฟาร์ม ในการเป็นข้อมูลเบื้องต้นและแนวทางในการนำเอาไบโอติกมาใช้ในฟาร์มไม่มากก็น้อยนะคะ คราวหน้าจะมาพูดคุยในเรื่องอะไรก็อย่าลืมติดตามกันนะคะ ขอบคุณค่ะ สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม)
|