
โรคอุบัติใหม่ไม่ไกลตัว Novel Coronavirus เรื่องร้อนต้องรีบเล่านะคะ ก่อนที่จะเชยเป็นเรื่องของ Novel Coronavirus 2019 ไวรัสปริศนาต้อนรับปี 2563 ใครตามข่าวจะทราบว่าเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2563 องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาประกาศแล้วว่าไวรัสชนิดใหม่ที่ถูกพบในจีนเกิดจากไวรัสโคโรนาตัวใหม่ (novel Coronavirus, nCoV) ซึ่งทางการจีนยืนยันแล้วว่ามีผู้ติดเชื้อมากกว่า 41 รายในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย พบผู้เสียชีวิตหนึ่งคน และในวันที่ 13 มกราคม 2563 มีการยืนยันว่าพบผู้ป่วยในไทย ซึ่งผู้ป่วยรายนี้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหลังเดินทางกลับเมืองอู่ฮั่น อาการของคนที่ติดเชื้อ nCoV จะมีไข้ ปอดอักเสบ หายใจลำบาก จากการสืบสวนโรคเบื้องต้นทางการจีนให้ข้อมูลว่าผู้ป่วยบางรายเป็นมีอาชีพค้าขายในตลาดขายส่งอาหารทะเลในเมือง Huanan หรือเป็นลูกค้าประจำ และในขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานว่ามีการติดต่อของโรคจากคนไปสู่คน และยังไม่พบเจ้าหน้าที่พยาบาลได้รับเชื้อ จากการประเมินความเสี่ยงของ WHO ยังไม่สามารถให้ข้อสรุปได้เนื่องจากข้อมูลยังไม่เพียงพอที่จะระบุว่าอะไรที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค เนื่องจาก nCoV เป็นไวรัสกลุ่มเดียวกับซาร์ หรือ Severe acute respiratory syndrome (SARS) ที่ระบาดในปี 2546 ที่มีสัตว์เป็นรังโรค เช่น ชะมด ตอนนี้ทีมสืบสวนโรคพยายามค้นหาว่าจะมีปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อจากอะไรได้บ้างซึ่งมีเพียงเบาะแสว่าการสัมผัสปลามีชีวิตในตลาดขายส่งสัตว์น้ำเป็นจุดที่คนมีการสัมผัสกับสัตว์ ในขณะที่ยังหาสาเหตุของโรคไม่เจอ ทางกาจีนมีการปิดตลาดขายส่งอาหารทะเลชั่วคราวเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 เพื่อทำการฆ่าเชื้อ และยังไม่มีการฟันธงว่าปลาหรือสัตว์น้ำจะเป็นแหล่งรังโรคของ nCoV เนื่องจากสื่อท้องถิ่นรายงานว่าในตลาดสัตว์น้ำ ยังมีการขายสัตว์อื่นอีกด้วย เช่น นก กระต่าย และงู ทำให้ทีมสืบสวนโรคทำงายากขึ้นไปอีก
จากบทเรียนของเชื้อสมองอักเสบในสิงคโปร์และฮ่องกงที่เกิดจากการทานสลัดปลาดิบสไตล์จีน ทำให้คนได้รับเชื้อแบคมีเรีย Streptococcus agalactiae สายพันธุ์ ST283 เกิดการติดเชื้อเยื่อหุ้มสมองและข้ออักเสบในช่วงปี 2558 จากที่ไม่เคยมีรายงานว่าคนได้รับเชื้อ Streptococcus agalactiae ที่ทำให้เกิดการป่วยที่รุนแรงกลับพบว่าเชื้อมีวิวัฒนาการที่จะปรับตัวเข้ากับคนหรือสัตว์ซึ่งเป็น host มากขึ้น คำถามถัดไปสำหรับ nCoV และการสืบสวนโรคที่เชื่อมโยงกับตลาดขายส่งสัตว์น้ำและอาหารทะเล คือ Coronavirus สามารถเพิ่มจำนวนในสัตว์เลือดเย็นได้จริงหรือ หรือว่ามีการเปลี่ยนทางพันธุกรรมของไวรัสทำให้สัตว์ชนิดอื่นที่นอกเหนือจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกลายมาเป็นรังโรค หรือมีการสัมผัสสัตว์ชนิดอื่นที่นำมาขายในตลาดดังกล่าว ทั้งนี้ต้องติดตามผลการสืบสวนของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention (CDC) และการประเมินความเสี่ยงของ WHO ต่อไป ใครอยากอ่านข่าวต้นฉบับตามไปได้ตรงนี้เลยนะคะ https://www.who.int/csr/don/12-january-2020-novel-coronavirus-china/en/ กับ https://edition.cnn.com/2020/01/06/health/china-pneumonia-intl-hnk/index.htm ค่ะ สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม)
|