โรคอุบัติใหม่ในสัตว์น้ำของประเทศไทยในอดีต
เรื่องเกี่ยวกับโรคระบาดมีให้เล่ากันไม่จบสิ้นค่ะ เหลียวหลังกลับไปมองช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาเราเจอกับโรคอุบัติใหม่ในสัตว์น้ำอะไรบ้าง บทความก่อนหน้านี้เคยคุยกันไปบ้างแล้วว่าความเสี่ยงของการพบโรคแปลกๆ ใหม่ๆ ในบ้านเราเกิดจากสาเหตุปัจจัยอะไรได้บ้าง ที่เด่นๆ เลยก็มาจากนักท่องเที่ยวนี่แหละค่ะ ทั้งตัวเราเองที่ไปเที่ยวและนักท่องเที่ยวที่มาบ้านเรา ทำให้แนวโน้มของการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากอาหารมีการปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลายมากขึ้นรองรับกับความต้องการของตลาดไปด้วย ซึ่งหมายถึงแต่ละประเทศ แต่ละพื้นที่รวมถึงประเทศไทยเรามีการนำเข้าสินค้าหรือสัตว์น้ำต่างถิ่นเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งการนำเข้าสัตว์น้ำมีชีวิตเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีความเสี่ยงต่อการนำโรคอุบัติใหม่มาสู่บ้านเรา หรือบางโรคมีรายงานการเกิดโรคครั้งแรกในประเทศไทย การเกิดโรคอุบัติใหม่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งประเทศผู้ผลิต ผู้นำเข้าและส่งออก ในช่วงปี 2558-2560 มีการพบโรค Tilapia lake virus (TiLV) ในประเทศไทย จากนั้นพบการระบาดของโรคในไต้หวัน มาเลเซีย อินเดีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย สร้างความสูญเสียให้กับอุตสาหกรรมการเลี้ยงปลานิล และมีทีมวิจัยพบว่าไวรัส TiLV ในปลานิลจากประเทศไทยมีความใกล้เคียงกับไวรัส TiLV ในอิสราเอล ที่ผ่านมาพบการระบาดของโรคนี้มากถึง 40 ประเทศ มีความเป็นไปได้ว่าการนำเข้าลูกพันธุ์ปลาจะเป็นสาเหตุของการแพร่ระบาดของโรคไปยังทวีปต่างๆ ดังนั้นการเฝ้าระวังและกักโรคก่อนนำเข้าปลามีชีวิตมาเลี้ยงในฟาร์มเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ สำหรับผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่มีการนำเข้าก็ต้องมีการตรวจเฝ้าระวังด้วย ในส่วนของโรคอุบัติใหม่ในกุ้ง องค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization; FAO) และองค์การข่ายงานศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแห่งเอเชียและแปซิฟิก (Network of Aquaculture Centres in Asia-Pacific; NACA) ได้จัดทำระบบ Quarterly Aquatic Animal Disease Report หรือ QAAD ซึ่งเป็นระบบรายงานสถานการณ์โรคสัตว์น้ำให้กับประเทศสมาชิกของ NACA และมีการรวบรวมรายชื่อโรคอุบัติใหม่ในกุ้งที่เกิดขึ้นในปี 2560-2562 เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมในการรับมือกับโรคดังต่อไปนี้ - Hepatopancreatic microsporidiosis มีสาเหตุจากเชื้อ Enterocytozoon hepatopeneai (EHP) ซึ่งเป็นเชื้อไมโครสปอริเดีย และพบการเกิดโรคในกุ้งกุลาดำของไทยเมื่อปี 2552 นอกจากนี้ยังพบโรคในจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และอินเดีย โรคนี้ไม่ทำให้กุ้งตายแต่ส่งผลกระทบทำให้กุ้งโตช้า โดยเฉพาะกุ้งขาวแวนนาไม ความเสี่ยงของการเกิดโรคมาจากโรงเพาะฟักที่มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพไม่เหมาะสม และการใช้อาหารมีชีวิตที่มีการปนเปื้อนของเชื้อมาเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ เช่น ไส้เดือนทะเล หอยสด - Viral Covert Mortality Disease of shrimps มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส พบการตายในกุ้งทะเลและกุ้งน้ำจืดหลายชนิด เช่น กุ้งขาวแวนนาไม กุ้งก้ามกราม ทำให้เกิดความสูญเสียต่ออุตสาหกรรมกุ้งในประเทศจีน และพบโรคดังกล่าวในประเทศไทยเมื่อปี 2559 กุ้งที่มีอาการป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสนี้จะพบลักษณะของตับฝ่อลีบ เปลือกนิ่ม โตช้า เกิดเนื้อตายที่กล้ามเนื้อบริเวณท้อง กุ้งที่ติดโรคมักตายก้นบ่อ การใช้อาหารสัตว์ชีวิต เช่น อาร์ทีเมีย ไส้เดือนดิน ทำให้เกิดความเสี่ยงของการเกิดโรค - การติดเชื้อ Spiroplasma eriocheiris ในกุ้งเครย์ฟิชและกุ้งน้ำจืด มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย Spiroplasma ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันต่ำในกุ้งน้ำจืด เครย์ฟิชและกุ้งก้ามกรามมีความไวรับต่อโรค - Infection with Shrimp haematocyte iridescent virus (SHIV) มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส ทำให้เกิดความสูญเสียต่ออุตสาหกรรมกุ้งในจีนตั้งแต่ปี 2557 กุ้งที่ติดเชื้อมีสีซีด ตับฝ่อลีบ เปลือกนิ่ม
โรคที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าเป็นการระบาดข้ามประเทศ ซึ่งการเคลื่อนย้ายสัตว์น้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการนำโรคเข้าในฟาร์ม สำหรับรายละเอียดในการเฝ้าระวังและควบคุมโรคขอให้ติดตามได้ในบทความต่อไปนะคะ สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม)
|