การตรวจโรคทางห้องปฏิบัติการและการนำไปใช้
เมื่อพบการเกิดโรคไม่ว่าในคนหรือสัตว์ โดยเฉพาะโรคที่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง จำเป็นที่จะต้องมีการตรวจหาเชื้อก่อโรคและยืนยันการติดเชื้อ เพื่อนำไปสู่การพิจารณากำหนดมาตรการในการควบคุมและป้องกันโรคต่อไป แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าวิธีการตรวจแบบไหนที่เหมาะสมการสถานการณ์และมีความน่าเชื่อถือ และเราจะตัดสินใจเลือกการวิธีตรวจแบบไหน ลองมาอ่านบทความวันนี้ดูกันค่ะ อันดับแรกต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเชื้อโรคมีระยะฟักตัว และร่างกายของคนหรือสัตว์จะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคหลังจากได้รับเชื้อแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ โดยทั่วไปแบ่งวิธีการตรวจโรคทางห้องปฏิบัติการออกเป็น 2 ลักษณะ คือ การตรวจหาเชื้อก่อโรค (identification of disease agent) และการตรวจหาการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของร่างกายหลังได้รับการสัมผัสเชื้อ (serological test) ซึ่งการตรวจหาเชื้อก่อโรค เช่น การเพาะแยกเชื้อในอาหารเลี้ยงเชื้อหรือเซลล์เพาะเลี้ยง และการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อด้วยวิธีปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรส (Polymerase chain reaction; PCR) วิธีนี้เหมาะสมในการตรวจยืนยันตัวเชื้อก่อโรคเลย เพราะว่าเป็นการบ่งชี้ตัวเชื้อก่อโรค การระบุหาเชื้อก่อโรคมักต้องทำอยู่แล้วโดยเฉพาะกรณีที่มีการระบาดของโรคครั้งแรก ซึ่งการเลือกระยะเวลาในการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจเชื้อโรคควรคำนึงถึงระยะฟักตัวและระยะการขับเชื้อออกจากร่างกาย ถ้าเกิดมีการเก็บตัวอย่างก่อนที่เชื้อจะฟักตัวหรือเมื่อหายป่วยแล้วอาจทำให้ตรวจไม่พบเชื้อได้เนื่องจากเชื้อมีปริมาณน้อยเกินกว่าที่จะตรวจพบได้สำหรับบางวิธีการตรวจ ปัจจุบันเทคนิค PCR เป็นวิธีที่มีความไว (sensitivity) และความจำเพาะ (specificity) สูง สามารถนำมาตรวจหาเชื้อที่ปริมาณน้อยได้ เหมาะสำหรับการตรวจเชื้อโรคในระยะแรกของการติดเชื้อ อย่างไรก็ตามการตรวจหาเชื้อก่อโรคยังมีข้อจำกัด คือ ต้องดำเนินการในห้องปฏิบัติการที่มีความพร้อม ทั้งบุคลากร สถานที่ และมีการจัดการระบบความปลอดภัยเกี่ยวกับเชื้อก่อโรค เพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อก่อโรค ขั้นตอนและระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจหาเชื้อก่อโรคจะกินเวลาค่อนข้างจะนานเมื่อเทียบกับการตรวจหาการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของร่างกายหลังได้รับการสัมผัสเชื้อ สำหรับการตรวจหาการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันเป็นการตรวจหาสิ่งที่เรียกว่าแอนติบอดี (antibody) ซึ่งเป็นโปรตีนที่สร้างจากเม็ดเลือดขาว ใช้ในการทำลายสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย การสร้างแอนติบอดีมีความความจำเพาะต่อเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอม โดยทั่วไปแล้วจะมีการสร้างแอนติบอดีประมาณ 2 สัปดาห์หลังติดเชื้อ ร่างกายจะจดจำเชื้อโรคไว้และเมื่อติดเชื้อครั้งต่อไปจะสร้างแอนติบอดีเพื่อจัดการเชื้อได้เร็วขึ้น แอนติบอดีที่เกิดขึ้นอาจอยู่ในร่างกายได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปีขึ้นกับชนิดของเชื้อโรค การตรวจหาภูมิคุ้มกันเป็นวิธีที่นิยมใช้เช่นกัน เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่ายและราคาไม่แพง สำหรับโรคที่ยังไม่มีวัคซีนในการป้องกัน การตรวจพบแอนติบอดีต่อเชื้อสามารถบ่งบอกถึงการติดเชื้อได้ ในพื้นที่ที่มีโรคเป็นเชื้อประจำถิ่น เชื้อโรคจะลดความรุนแรงลงและมักพบเชื้อที่มีความรุนแรงต่ำ (low or moderately virulent) ทำให้สัตว์หรือคนที่ได้รับเชื้อมีอาการป่วยต่ำหรือไม่แสดงอาการ การตรวจหาแอนติบอดีจำเพาะต่อโรคจะเหมาะสำหรับการตรวจหาโรคในสัตว์หรือคนที่เคยติดเชื้อ หรือไม่แสดงอาการเนื่องจากการติดเชื้อที่มีความรุนแรงต่ำ และสามารถนำไปใช้พิจารณาประกอบการวางแผนโปรแกรมการกำจัดโรคได้ ปัจจุบันมีชุดทดสอบสำเร็จรูปสำหรับการตรวจโรคหลายโรค แม้จะเป็นเครื่องมือที่สะดวกในการตรวจเนื่องจากให้ผลรวดเร็ว แต่ก็ยังมีข้อควรคำนึงถึง คือ ชุดทดสอบสำเร็จรูปส่วนใหญ่ไม่สามารถแยกการแอนติบอดีในร่างกายที่เกิดจากการติดเชื้อในปัจจุบันออกจากแอนติบอดีที่สร้างจากการได้รับเชื้อครั้งก่อนหรือจากการทำวัคซีนได้ โดยสรุปการจะเลือกใช้วิธีการตรวจโรคใดก็ตามต้องพิจารณาจากกลไกการก่อโรคของเชื้อ ระยะฟักตัว สถานการณ์ระบาดของโรคนพื้นที่ ซึ่งจะทำให้ทราบว่าควรเก็บตัวอย่างเมื่อใด เก็บตัวอย่างอะไร และตรวจด้วยวิธีไหนที่จะเหมาะสมกับสถานะของการติดเชื้อ รวมทั้งต้องถึงมีข้อคำนึงต่างๆ ร่วมด้วยเพื่อประโยชน์ในการแปลผลการตรวจอย่างมีประสิทธิภาพค่ะ สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม) |