ต้านวิบริโอด้วยโปรไบโอติก
พบกันอีกเช่นเคยกับ Farm Story นะคะ วันนี้ก็ยังอยากพูดคุยกันในประเด็นเดิม นั่นคือการนำโปรไบโอติกมาใช้ในการเลี้ยงกุ้ง แต่หนนี้จะพูดถึงความสามารถของโปรไบโอติกในการต่อสู้กับแบคทีเรียตัวร้ายสำหรับวงการกุ้งกันบ้าง นั่นคือ เชื้อแบคทีเรียวิบริโอพาราฮีโมไลติคัส (Vibrio parahaemolyticus) มารร้ายประจำบ่อกุ้งที่คอยหลอกหลอนชาวฟาร์มมาตลอดนั่นเอง หลายๆ ท่านอาจจะทราบอยู่แล้วว่าโปรไบโอติกนั้นมีความสามารถต่อต้านเชื้อก่อโรคได้ แต่เคยสงสัยกันมั้ยคะว่าโปรไบโอติกทำแบบนั้นได้ยังไง ไปแอบอ่านงานวิจัยมานะคะ พบว่านักวิจัยจากประเทศสเปนได้ทำการวิจัยเพื่อค้นหาคำตอบนี้ไว้ให้เราแล้วค่ะ โดยในปี 2007 Jose´ Luis Balca´zar และคณะ ได้ทำการแยกแบคทีเรียชนิดดีหรือโปรไบโอติก จากทางเดินอาหารของกุ้งที่รอดพ้นจากการติดเชื้อวิบริโอพาราฮีโมไลติคัสออกมา จากนั้นจึงนำแบคทีเรียโปรไบโอติกชนิดดังกล่าวมาเพาะเลี้ยงและทำให้เจริญเติบโตร่วมกับวิบริโอพาราฮีโมไลติคัสในห้องทดลอง เพื่อดูการเจริญเติบโตร่วมกันของเชื้อทั้งสองชนิด ผลการศึกษาพบว่าแบคทีเรียโปรไบโอติก สามารถต่อต้านการเจริญเติบโตของเชื้อวิบริโอพาราฮีโมไลติคัสได้ สังเกตได้จากอาหารเลี้ยงเชื้อเกิด clear zone หรือพื้นที่ว่างที่เป็นบริเวณที่วิบริโอพาราฮีโมไลติคัสควรจะเจริญเติบโต แต่กลับไม่สามารถเจริญเติบโตได้ เนื่องจากถูกโปรไบโอติกยับยั้งไว้นั่นเอง นอกจากนั้นคณะวิจัยยังได้ออกแบบและทำการทดลองในกุ้งมีชีวิตอีกด้วย โดยทำการแบ่งกุ้งออกเป็นกลุ่มควบคุม (ไม่ให้กินโปรไบโอติก) และกลุ่มทดลองที่ให้โปรไบโอติกผสมในอาหาร ผู้ทดลองได้เลี้ยงกุ้งทั้งสองกลุ่มเป็นเวลา 28 วัน โดยให้อาหารวันละ 2 ครั้ง เมื่อครบกำหนดจึงให้เชื้อวิบริโอพาราฮีโมไลติคัส ที่แยกได้จากกุ้งป่วยแก่กุ้งทั้งสองกลุ่มเป็นเวลา 24 ชั่วโมง โดยเอาเชื้อวิบริโอผสมลงในน้ำด้วยปริมาณเท่าๆ กัน จากนั้นเลี้ยงกุ้งต่อไปพร้อมกันกับสังเกตอัตราการตายของกุ้ง ผลการทดลองพบว่าภายหลังจากการเลี้ยง 28 วันแรก กุ้งกลุ่มที่เลี้ยงด้วยโปรไบโอติกนั้นมีอัตราการรอดที่สูงกว่าและมีน้ำหนักตัวที่ดีกว่ากุ้งในกลุ่มควบคุม (ไม่ให้กินโปรไบโอติก) และภายหลังจากได้รับเชื้อวิบริโอพาราฮีโมไลติคัสแล้ว กุ้งทั้งสองกลุ่มเริ่มแสดงอาการป่วยในวันที่ 3 หลังได้รับเชื้อ โดยกุ้งกลุ่มควบคุม (ไม่ให้กินโปรไบโอติก) มีอัตราการตายสะสมอยู่ที่ 33% ซึ่งสูงกว่ากุ้งกลุ่มที่ให้กินโปรไบโอติกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งมีอัตราการตายสะสมอยู่ที่ 17-22% โดยอัตราการตายของกุ้งกลุ่มที่กินโปรไบโอติกนั้น มีอัตราคงที่ภายหลังจากได้รับวิบริพาราฮีโมไลติคัสโอไปแล้วเป็นเวลา 12 วัน จากผลการทดลองดังกล่าว ทั้งผลจากห้องทดลองและจากการทดลองในกุ้งมีชีวิต จะเห็นได้ว่าโปรไบโอติกมีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญเติบโตของวิบริโอพาราฮีโมไลติคัสอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งกลไกของแบคทีเรียในการยับยั้งวิบริโอพาราฮีโมไลติคัสนั้นเกิดจากหลายปัจจัย โดยโปรไบโอติกบางชนิดมีความสามารถในการสร้างสารที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อจุลชีพชนิดอื่น หรือสามารถสร้างสารที่มีคุณสมบัติคล้ายยาต้านจุลชีพมาจัดการกับวิบริโอพาราฮีโมไลติคัสได้ นอกจากนี้โปรไบโอติกยังสามารถสร้างสารจำพวกเอนไซม์ต่าง ๆ เช่น ไลเปส ไลโซไซม์ และโปรติเอส ที่มีฤทธิ์ในการย่อยสลายสารอื่น ๆ ที่อาจจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของวิบริโอพาราฮีโมไลติคัสได้อีกด้วย และความสามารถอีกอย่างที่สำคัญไม่แพ้กันคือโปรไบโอติกส่วนใหญ่จะสามารถสร้างและหลั่งกรดได้ ซึ่งจะมีผลทำให้ค่า pH หรือค่าความเป็นกรดด่างบริเวณโดยรอบมีค่าต่ำ ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของวิบริโอพาราฮีโมไลติคัส เป็นเหตุให้เชื้อก่อโรคถูกยับยั้งได้นั่นเอง จากคุณสมบัติทั้งหมดที่กล่าวมา สามารถอนุมานได้ว่าการใช้โปรไบโอติกในการเลี้ยงกุ้ง สามารถกระตุ้นให้กุ้งมีความสามารถในการทนทานต่อโรคได้ดีกว่ากุ้งที่เลี้ยงด้วยอาหารธรรมดา และนอกจากนี้น้ำหนักตัวของกุ้งที่เลี้ยงด้วยโปรไบโอติกยังดีกว่ากุ้งกลุ่มควบคุม (ไม่ให้กินโปรไบโอติก) อีกด้วย น่าสนใจจริงๆ นะคะสำหรับเรื่องของโปรไบโอติก วันหน้าได้อ่านอะไรจะมาเล่าสู่กันฟังใหม่ค่ะ สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม) |