ทำไมสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จึงไม่มีรายงานความเสี่ยงต่อไวรัส COVID-19
สืบเนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโรค Covid-19 ในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ที่มีการสืบสวนโรคแล้วพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีประวัติการเดินทางไปตลาดค้าสัตว์น้ำมีชีวิตเมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2562 ทำให้มีหลายคนตั้งข้อสังเกตและมีความสงสัยเกี่ยวกับความปลอดภัยของสินค้าสัตว์น้ำ ว่าปลอดภัยต่อเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโรค Covid-19 ในประเด็นข้อกังวลนี้ของประชาชนทั่วไปนั้น หน่วยงานองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ Food and Agriculture Organization (FAO) ได้มอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอาหารปลอดภัย เช่น สัตวแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพสัตว์น้ำดำเนินการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อจะค้นหาคำอธิบายต่อข้อสังเกตและความสงสัยดังกล่าวให้ชัดเจน โรค Covid-19 มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส Severe acute respiratory syndrome coronavirus 2 (SARS-CoV-2) จัดอยู่ในวงศ์ Coronavirida สกุล Betacoronavirus ซึ่งที่ผ่านมามีการพบรายงานการเกิดโรคจากไวรัสสกุลนี้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเท่านั้น ยังไม่พบการเกิดโรคในสัตว์น้ำและสัตว์เลือดเย็น โดยมีเหตุผลดังนี้ (1) “ปอด” เป็นเนื้อเยื่อเป้าหมายของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 แต่สำหรับสัตว์น้ำส่วนใหญ่จะไม่มีปอด การแลกเปลี่ยนออกซิเจนที่เกิดขึ้นเป็นการแลกเปลี่ยนออกซิเจนทางเหงือก ปลาจึงจัดเป็นสัตว์ไม่ไวรับต่อโรค (2) การที่ไวรัสจะเข้าสู่เซลล์ของกุ้ง หรือ host ได้จะต้องมีการจับกับตัวรับบนผิวเซลล์ (cellular receptors) เพื่อจะทำการเพิ่มจำนวนต่อไป โดยพบว่า angiotensin-converting enzyme 2 (ACE2) ซึ่งเป็นโปรตีนส่วนประกอบของ receptor มีบทบาทสำคัญในกลไกที่ไวรัสใช้เข้าสู่เซลล์ ทั้งนี้ ACE2 ของคนมีความแตกต่างจากของปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ มาก ทำให้ไวรัสไม่สามารถเข้าไปเข้าสู่เซลล์และเพิ่มจำนวนในสัตว์น้ำได้ (3) ในเซลล์ของสัตว์น้ำมีสารและเอ็นไซม์ที่ไม่เอื้อต่อการเพิ่มจำนวนของไวรัส แตกต่างจากเซลล์ของคนที่มีเอ็นไซม์ที่ไวรัสสามารถนำไปใช้ในกระบวนการคัดลอก เพิ่มจำนวน แปลรหัสพันธุกรรม เชื้อสามารถนำไปใช้เพิ่มจำนวนได้ จากเหตุผลดังกล่าวเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่สนับสนุนว่าทำไมสัตว์น้ำจึงไม่ได้เป็นสาเหตุหลักของการแพร่กระจายโรค Covid-19 ไปสู่คน และการได้รับไวรัสผ่านทางการบริโภคสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำถือว่ามีความเสี่ยงต่ำมาก อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคไม่ควรมองข้ามการปนเปื้อนของไวรัสไปสู่ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงในการปนเปื้อน ประกอบด้วย การที่ผู้มีเชื้อไปสัมผัสอาหารโดยไม่มีการรักษาสุขลักษณะและละลองจากการพูด การไอ จาม นอกจากนี้ ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลว่าไวรัสจะคงอยู่ในผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำได้นานเท่าไหร่ สำหรับไวรัส SARS-CoV-2 มีคุณสมบัติที่ไม่ทนต่อความร้อนและจะถูกทำลายเมื่ออาหารนั้นได้รับการปรุงสุกที่อุณหภูมิมากกว่า 70 °C สำหรับผู้บริโภคเพื่อให้มั่นใจได้ว่าการรับประทานสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยจากโรค Covid-19 ควรเลือกซื้ออาหารที่มีการเตรียมและการปรุงอย่างถูกสุขลักษณะและมีมาตราการทางด้านความปลอดภัยอาหาร อย่าลืมล้างมือทุกครั้งก่อนและหลังสัมผัสสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ สำหรับแนวปฏิบัติในการลดความเสี่ยงของไวรัส SARS-CoV-2 ในระบบการผลิตสามารถสืบค้นรายละเอียดได้จากมาตรฐานของโคเด็กซ์ เช่น มาตรฐานเกี่ยวกับเรื่องหลักสุขลักษณะอาหาร (General Principles of Food Hygiene, CXC 1- 1969) และการควบคุมไวรัสในอาหาร (Guidelines for the Application of General Principles of Food Hygiene to the Control of Viruses in Food (CXG 79-2012). เพื่อประโยชน์ของผู้ที่เกี่ยวข้องจะนำสามารถไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้
ที่มา Viewpoint: SARS-CoV-2 (The Cause of COVID-19 in Humans) is Not Known to Infect Aquatic Food Animals nor Contaminate Their Products: https://doi.org/10.33997/j.afs.2020.33.1.009
สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม) |