
ระบบนิเวศของแบคทีเรียในบ่อกุ้งกับโปรไบโอติก สวัสดีผู้อ่านทุกท่านค่า กลับมาพบกันอีกครั้งกับเรื่องเล่าชาวฟาร์ม Farm Story รอบนี้เรามาพูดคุยกันต่อถึงประโยชน์ของโปรไบโอติกในการเลี้ยงกุ้ง โดยจะพูดถึงประโยชน์ในแง่ของระบบนิเวศของแบคทีเรียในบ่อกุ้งกันบ้างนะคะ หลายๆท่านคงทราบกันดีว่าในระบบการเลี้ยงกุ้งมีของเสียจากการเลี้ยงค่อนข้างมาก ทั้งจากอาหารและสิ่งขับถ่ายจากตัวกุ้งเอง หากจัดการไม่เหมาะสมอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพน้ำในบ่อได้ การรักษาสมดุลระบบนิเวศของแบคทีเรียในบ่อที่ดี เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะสามารถช่วยจัดการปัญหาน้ำเสียและลดจำนวนแบคทีเรียตัวร้ายในบ่อได้ โดยทั่วไปแล้วแบคทีเรียชนิดดีที่สามารถพบได้ในระบบนิเวศของแบคทีเรียที่พบบริเวณชายฝั่งได้แก่ กลุ่มของ Bacillus spp. Nitrosomonas spp. และ Nitrobacter spp. ซึ่ง Bacillus spp.จะมีความโดดเด่นเป็นพิเศษเนื่องจากเชื้อตัวนี้มีความสามารถในการช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์ต่าง ๆ ช่วยสนับสนุนให้เกิดการหมุนเวียนของสารอาหารในระบบ แย่งใช้สารอาหารกับแบคทีเรียที่ไม่ดีและยังสามารถหลั่ง enzyme มาต่อสู้กับแบคทีเรียตัวร้ายได้อีกด้วย ซึ่งแบคทีเรียตัวร้ายหลักๆ ที่พบได้บ่อยก็คือ วิบริโอ หรือ Vibrio spp. ซึ่งไม่เป็นที่ต้องการของคนเลี้ยงกุ้งนั่นเอง นอกจากแบคทีเรียชนิดนี้จะสามารถก่อโรคกับตัวกุ้งได้โดยตรงแล้ว Vibrio spp. ยังส่งผลเสียต่อคุณภาพน้ำและในระบบนิเวศของแบคทีเรียชายฝั่ง ทำให้สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมต่อการเลี้ยง ส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้กุ้งเกิดความเครียด โน้มนำให้ง่ายต่อการเกิดโรค จากข้อมูลดังกล่าว มีการศึกษาโดยนักวิจัยชาวอินเดียที่ลองทำการทดลองให้โปรไบโอติก ชนิด Bacillus spp. ในบ่อเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมและจัดให้เป็นกลุ่มทดลอง ขณะที่บ่อที่อยู่ในบริเวณเดียวกันและไม่ได้ให้โปรไบโอติกจัดเป็นกลุ่มควบคุม ผู้ทดลองทำการเลี้ยงกุ้งนานถึง 150 วัน และเก็บตัวอย่างน้ำในบ่อรวมถึงดินตะกอนจากบ่อมาเพื่อทำการทดสอบหาชนิดและปริมาณของแบคทีเรีย โดยผลการทดลองพบว่าปริมาณของ Bacillus spp. ในบ่อที่เป็นกลุ่มทดลองมีปริมาณเชื้อ Bacillus spp. มากกว่าบ่อควบคุม โดยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่ทำการทดลอง ขณะที่แบคทีเรียตัวร้าย Vibrio spp. มีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน และเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมพบว่าเชื้อวิบริโอมีปริมาณน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ จึงสามารถสรุปได้ว่าการใช้โปรไบโอติกในการเลี้ยงกุ้งสามารถเพิ่มแบคทีเรียชนิดดีและลดแบคทีเรียตัวร้ายในระบบการเลี้ยงได้ นอกจากนี้ยังพบว่าคุณภาพน้ำ อัตราการรอดของกุ้ง และสุขภาพของกุ้ง ในกลุ่มทดลองมีคุณภาพดีกว่าในกลุ่มควบคุมอีกด้วย จากข้อมูลการทดลองดังกล่าวจะเห็นได้ว่าโปรไบโอติกนั้นมีประโยชน์ในแง่ของการรักษาระบบนิเวศของแบคทีเรียในระบบการเลี้ยง ช่วยลดปัญหาของเสียในระบบ ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวถือว่าเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการเลี้ยงในปัจจุบันที่เน้นการลดการใช้สารเคมีและยาปฏิชีวนะในการจัดการกับคุณภาพน้ำ และยังส่งผลดีต่อสุขภาพกุ้งในระยะยาว ช่วยลดแบคทีเรียก่อโรค ถือว่ายิงปืนนัดเดียวได้ประโยชน์หลายประการ เอาละค่ะ สำหรับบทความวันนี้ก็หวังว่าข้อมูลจากงานวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านในการนำไปประยุกต์ใช้ในการเลี้ยงกุ้งไม่มากก็น้อยนะคะ แล้วพบกันคราวหน้าค่า
สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม) |