
ซินไบโอติก (Synbiotics) สำหรับสัตว์น้ำ หลายๆ บทความที่ผ่านมาหมอได้เล่าให้ฟังถึงเรื่องของโปรไบโอติก (probiotic) วันนี้จะมาเล่าเรื่องซินไบโอติก (Synbiotics) กันบ้างซินไบโอติก คืออะไร ? ซินไบโอติกเป็นการนำพรีไบโอติก (prebiotic) มาผสมรวมกันกับโปรไบโอติก โดยพรีไบโอติกจัดเป็นสารอาหารสำหรับโปรไบโอติกอีกต่อหนึ่งนั่นเอง จากการศึกษาพบว่าในปี 2005 เริ่มมีการนำซินไบโอติกมาใช้ในระบบการผลิตสัตว์น้ำ เพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มและเร่งการเจริญเติบโต มีรายงานการใช้อาหารผสมซินไบโอติกในปลา ส่งผลทำให้เม็ดเลือดขาวมีจำนวนเพิ่มขึ้น สร้างเอมไซม์ และสารที่ใช้ในกลไกกำจัดสิ่งแปลกปลอมมากขึ้น ซึ่งเป็นการส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มแบบไม่จำเพาะ (nonspecific immune response) สำหรับผลของซินไบโอติกต่อระบบภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ (specific immune response) นั้น พบว่าซินไบโอติกทำให้ระดับแอนติบอดี immunoglobulin M (IgM) ของปลาเพิ่มขึ้นโปรไบโอติกที่นิยมใช้เป็นองค์ประกอบของซินไบโอติก คือ Lactobacillus rhamnosus, Enterococcus faecalis, Pediococcus acidilactici และ Enterococcus faecium สำหรับพรีไบโอติกที่นิยมใช้ เช่น แมนโนโอลิโกแซคคาไรด์ (mannanoligosaccharide, MOS) ฟรักโทโอลิโกแซ็กคาไรด์ (Fructo Oligosaccharides, FOS) อินนูลิน ไคโตซานโอลิโกแซคคาไรด์ (chitosan oligosaccharides, COS) กาแลตโตโอลิโกแซคคาไรด์ (Galacto-oligosaccharide, GOS) อะราบิโนไซโลโอลิโกแซคคาไรด์ (arabino-xylooligosaccharides; AXOS) และไอโซมอลโตโอลิโกแซ็กคาไรด์ (isomalto-oligosaccharides, IMO) สำหรับการใช้ซินไบโอติกในกุ้งพบว่าซินไบโอติกช่วยกระตุ้นให้เกิดการห่อหุ้มสิ่งแปลกปลอม (encapsulation) และการกลืนทำลายสิ่งแปลกปลอม (phagocytosis) ของเม็ดเลือดขาว มีรายงานว่าซินไบโอติกที่ใช้ Bacillus spp. และ IMO หรืออินนูลิน เป็นองค์ประกอบ สามารถลดอัตราตายของกุ้งจากโรคจุดขาวได้ อย่างไรก็ตามข้อมูลการใช้ซินไบโอติกในกุ้งยังมีจำกัด ทั้งนี้ กลไกในการทำงานของซินไบโอติกในสัตว์น้ำยังไม่ชัดเจนและอยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติม แต่เบื้องต้นสันนิษฐานว่าโปรไบโอติกจะไปแย่งพื้นที่ไม่ให้เชื้อก่อโรคจับตัวเซลล์ในลำไส้ของสัตว์น้ำ (competitive adhesion) ในขณะที่พรีไบโอติก เช่น MOS จะไปจับกับเลคติน (lectin) ซึ่งเป็นโปรตีนที่จับจำเพาะกับคาร์โบไฮเดรตที่อยู่บนเซลล์ของแบคทีเรียแกรมลบ เลคตินมีหน้าที่ทำให้แบคทีเรียเกาะกับตัวรับในเซลล์ลำไส้ของ host หรือสัตว์น้ำได้ แต่การใช้ MOS ไปจับกับเลคติน (mannose-binding lectin; MBL) จะสามารถยับยั้งไม่ให้เชื้อก่อโรคเกาะและเพิ่มจำนวน (colonization) ในลำไส้ได้ ในการพัฒนาประสิทธิภาพของซินไบโอติกนั้น นักวิจัยอยู่ระหว่างการศึกษาองค์ประกอบของผนังเซลล์ของเชื้อที่ใช้เป็นโปรไบโอติก เช่น b-glucan และ lipopolysaccharides ที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (immunostimulatory effects) ระบบการจดจำโครงสร้างของโมเลกุลสิ่งแปลกปลอม (pathogen-associated molecular pattern, PAMPs) นอกจากนี้ ผลจากการนำโปรไบโอติกผสมรวมกับพรีไบโอติก เช่น E. faecalis ร่วมกับ MOS ช่วยให้เซลล์ลำไส้ของ host หรือสัตว์หลั่งสาร cytokines ที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของ dendritic cells (DCs) ซึ่งเป็นเซลล์กลุ่มแรกๆ หรือเซลล์ด่านหน้าในการกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย ทำงานได้ดียิ่งขึ้น เห็นข้อดีมาหลายข้อแต่ซินไบโอติกยังมีข้อจำกัดเหมือนกันคือยังคงมีราคาสูงอยู่สำหรับการนำมาใช้ในระบบการผลิตสัตว์ จึงต้องมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นเพื่อความเหมาะสมของการนำไปใช้ เรื่องขอซินไบโอติกขอเล่าสู่กันฟังเบาๆ เท่านี้ก่อนนะคะ แล้วพบกันคราวหน้าเหมือนเดิมค่า
สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม) |