อาหารสัตว์และเรื่องของสารพิษจากเชื้อรา
เมื่อเร็วๆ นี้หมอได้มีโอกาสไปออกพื้นที่พบปะผู้ประกอบการที่เลี้ยงจิ้งหรีด และสังเกตว่าการเลี้ยงจิ้งหรีดเดี๋ยวนี้เขาก็มีอาหารสำเร็จรูปทำขายกันอยู่หลายเจ้านะคะ ผู้ประกอบการแต่ละรายก็มีวิธีเก็บรักษาอาหารสัตว์แตกต่างกันไป ตามความสะดวกและศักยภาพของแต่ละฟาร์ม ก็พบว่ามีหลายที่เหมือนกันที่ต้องช่วยให้คำแนะนำปรับปรุงเรื่องที่เก็บอาหารสัตว์ให้เหมาะสมมากกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ประเด็นของบทความนี้อยู่ที่ว่าช่วงนี้ฝนตกทั่วทุกพื้นที่ ถ้าเราเก็บอาหารสัตว์ไม่ดี เจอกับความชื้นเข้าก็จะมีผลทำให้อาหารสัตว์ที่เก็บไว้เสื่อมสภาพและเป็นเชื้อราได้ง่าย แน่นอนว่าถ้าหากเราไม่ได้ตรวจสอบสภาพของอาหารเบื้องต้นก่อนเอาไปใช้เลี้ยงสัตว์ให้ดีแล้วละก็ จะมีผลเสียต่อสุขภาพสัตว์แน่นอนค่ะ แถมยังทำให้ผู้เลี้ยงเสียค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารมาทดแทนอาหารที่ขึ้นราอีกด้วยนะคะ เคยเขียนกันให้อ่านมาบ้างแล้วในเรื่องเกี่ยวกับอาหารสัตว์และคุณภาพอาหารสัตว์ รวมถึงการเก็บรักษาอาหารสัตว์ซึ่งต้องเก็บไว้ในที่ที่สามารถป้องกันการปนเปื้อนและเสื่อมสภาพของอาหารสัตว์ได้ อาหารสัตว์เป็นปัจจัยสำคัญมากที่จะส่งผลต่อสุขภาพของสัตว์ และมีผลต่อผลผลิตที่ปลายทางของการเลี้ยงเมื่อถึงระยะจับขาย วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เป็นแหล่งโปรตีนมีหลายชนิด ทั้งนี้ นอกจากปลาป่นที่มีราคาสูงแล้ว ยังมีการนำผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้จากสัตว์หรือประมง (by-products) แมลง (insect meals) สาหร่ายขนาดใหญ่ (macro-algae meals) หรือโปรตีนเซลล์เดียว (single-cell protein) มาใช้เป็นโปรตีนอื่นแทนปลาป่น แต่แหล่งโปรตีนทดแทนที่นิยมมากที่สุด คือ โปรตีนที่มาจากพืช (plant-based meals) ถึงแม้ว่า plant-based meals เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่หาง่าย มีปริมาณการผลิตมาก และราคาไม่แพง แต่ก็อาจพบสารพิษจากพืชซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติได้ เช่น ไซยาไนด์ แทนนิน ซาโปนิน ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพปลาและกุ้งได้ นอกจากนี้ยังมีข้อพึงระวังเกี่ยวกับสารพิษจากเชื้อรา (mycotoxin) ในวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ได้มาจากพืชอีกด้วย แม้ว่าพิษจาก mycotoxin ในสัตว์น้ำจะไม่ทำให้แสดงอาการป่วยหรือมี biomarker ชัดเจนเท่าสัตว์บก แต่อุตสาหกรรมสัตว์น้ำก็ควรมีความตระหนักในเรื่องดังกล่าวเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมามีการศึกษาและรายงานเกี่ยวกับ mycotoxin ที่ตรวจพบได้ในอาหารสัตว์น้ำ เช่น aflatoxin และ ochratoxin A ซึ่งเกิดจากเชื้อรา Aspergillus spp. และ Penicillium spp. ที่พบมากในเมล็ดฝ้ายหรือถั่วที่เก็บรักษาไม่ดีช่วงหลังการเก็บเกี่ยว ในขณะที่เชื้อรา Fusarium spp. จะสร้าง Fusarium mycotoxin Type B และ A, trichothecenes และ fumonisins ในช่วงก่อนการเก็บเกี่ยว นอกจากนี้ยังพบ deoxynivalenol (DON), zeralenone (ZEN), cyclopiazonic acid (CPA) และ vomitoxin อีกด้วย ถ้าปลาได้รับสารพิษจากเชื้อรา อาจสามารถพบอาการป่วยของปลาที่เกิดจาก aflatoxin ประกอบด้วย โตช้า เลือดจาง ความผิดปกติของระบบการแข็งตัวของเลือดเนื่องจากตับถูกทำลาย เกิดแผลช้ำได้ง่าย ภูมิคุ้มกันต่ำ และมีอัตราการตายเพิ่มขึ้น พิษจาก ochratoxin A ทำให้เกิดเนื้อตายที่ตับและไต มักพบปัญหา CPA ในปลาดุก ทำให้เกิดเนื้อตายที่กระเพาะ และ vomitoxin ทำให้โตช้าและอัตราการแลกเนื้อหรือ FCR ไม่ดี ปัญหาจาก mycotoxin มีผลต่อสุขภาพและสวัสดิภาพสัตว์ และยังมีผลครอบคลุมไปถึงคุณภาพของสัตว์น้ำที่ขายในท้องตลาดและสุขภาพของผู้บริโภคด้วย หลายประเทศมีการกำหนดระเบียบปฏิบัติเพื่อควบคุมปริมาณ mycotoxin ในอาหารสัตว์ มีการเผยแพร่แนวทางการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหารสัตว์ตั้งแต่ก่อนเก็บเกี่ยวไปจนถึงการดูแลหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อให้สามารถลดปัญหาเรื่อง mycotoxin ในอาหารสัตว์ได้ นอกจากนี้ยังมีการตรวจอาหารสัตว์น้ำเบื้องต้น หรือสุ่มส่งตัวอย่างอาหารสัตว์ไปวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการปนเปื้อนของ mycotoxin ในอาหารสัตว์ที่ส่งผลต่ออัตราการเจริญเติบโตและผลิตผลสุดท้ายที่ได้จากสัตว์น้ำ รวมถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค อ่านจบแล้วอย่าลืมสังเกตที่เก็บอาหารสัตว์ของท่านกันนะคะ ว่ายังโอเคอยู่รึเปล่า ที่มา: Gonçalves, R.A., Schatzmayr, D., Albalat, A. and Mackenzie, S. (2018), Mycotoxins in aquaculture: feed and food. Rev Aquacult, 12: 145-175. doi:10.1111/raq.12310 http://www.fao.org/3/T0700E/T0700E07.htm สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม) |