โลกยุค 4.0 กับการเฝ้าระวังโรค
จากการเกิดโรคข้ามพรมแดนและโรคอุบัติใหม่ทำให้หลายประเทศมีมาตรการควบคุมป้องกันโรคและการนำเข้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ที่รัดกุมขึ้น ข้อกำหนดขั้นต้นในการค้าสัตว์และผลิตภัณฑ์ของแต่ละประเทศจะยึดตามข้อกำหนดสุขภาพสัตว์ขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ซึ่งให้ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับโรคสัตว์ที่ครอบคลุมไปถึงการเฝ้าระวังโรคและการกำหนดสถานะปลอดโรคของแต่ละประเทศ เขต หรือโซน การเฝ้าระวังโรค หมายถึง การดำเนินการสืบสวนการเกิดโรคในประชากรสัตว์ที่สนใจอย่างต่อเนื่อง โดยมีการนำวิธีทางสถิติและวิทยาการระบาดมาใช้คำนวณ เพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์ของโรคที่เป็นอยู่ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการตรวจจับการเกิดโรคในระยะเริ่มแรก ทำให้การควบคุมป้องกันโรคของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ หน่วยงานภาครัฐที่มีอำนาจในการกำกับดูแลจะนำข้อมูลการเฝ้าระวังโรคของประเทศไทยไปเป็นข้อมูลประกอบในการค้าสัตว์น้ำ เพื่อแสดงให้ประเทศคู่ค้ามั่นใจว่าสินค้าของประเทศไทยปลอดจากโรคที่ OIE กำหนดและมีความปลอดภัยต่อการนำเข้า สิ่งที่ต้องกำหนดชัดเจนในการทำการเฝ้าระวังโรค คือ โรคที่ต้องการเฝ้าระวัง กลุ่มของสัตว์ที่จะทำการเฝ้าระวัง และวิธีที่ใช้เก็บข้อมูล ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สะดวกและเข้าถึงง่าย และเราเองสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการเฝ้าระวังโรคเบื้องต้นในฟาร์มได้ ดังนี้ 1. การตรวจหาอาการป่วยของสัตว์น้ำ การดูว่าสัตว์ป่วยหรือไม่ สำหรับสัตว์น้ำอาจจะไม่ง่ายนัก ผู้เลี้ยงบางรายอาจใช้วิธีการยกกระชังสำรวจก็สามารถใช้เทคโนโลยีอื่นมาตรวจสอบการป่วยได้ เช่น กล้องวิดีโอหรืออัลตราโซนิค ซึ่งใช้ตรวจจับอัตราการเติบโต การกินอาหาร หรือการเคลื่อนไหวของสัตว์น้ำ โดยควรมีการสังเกตอาการของปลาและกุ้งเป็นประจำ การจดบันทึกและการถ่ายภาพก็จะช่วยให้การสอบสวนโรคโดยเจ้าหน้าที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น ในส่วนของเจ้าหน้าที่ก็จะใช้ระบบ Geographical Information System (GIS) ในการตรวจติดตามการระบาดของโรค 2. การรายงานโรค ปัจจุบันกรมประมงกำลังพัฒนา application รายงานการเกิดโรคสัตว์น้ำแบบออนไลน์ โดยจะเริ่มจากโรคในกุ้งก่อน ซึ่งเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ เกษตรกรและบุคคลทั่วไปเข้ามารายงานเละตรวจสอบการเกิดโรค กรณีที่กุ้งมีการตายผิดปกติ เจ้าหน้าที่ของกรมประมงจะเข้าไปตรวจสอบ และแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร ในประเทศอื่นมีการใช้ระบบ information and communication technologies (ICT) มาใช้ในการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านทางโทรศัพท์มือถือ เช่น ระบบ PIISAC ของประเทศชิลีที่เป็นแพลทฟอร์ม (flatform) ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตแซลมอน ปัจจัยความเสี่ยงของโรค และการลดความสูญเสียที่ตามมา ในยุค 4.0 อะไรก็ดูง่ายและเชื่อมโยงกันหมด ทั้งนี้ การเลือกใช้เทคโนโลยีใดๆ ควรคำนึงถึงเรื่องระบบการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลเพื่อไม่ให้มีการนำผลการเฝ้าระวังโรคไปใช้กล่าวอ้างโดยไม่มีการพิสูจน์ยืนยัน ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสุขภาพสัตว์ได้อย่างคาดไม่ถึง สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม) |