ทำความรู้จัก
เปปไทด์ต้านจุลชีพ
เชื้อแบคทีเรียดื้อยาต้านจุลชีพเป็นปัญหาที่พบมากในการรักษาทางการแพทย์ปัจจุบันทั้งทั้งในวงการสุขภาพคนและสัตว์ เชื้อแบคทีเรียที่มีการปรับตัวเพื่อให้ทนทานต่อการใช้ยาต้านจุลชีพรักษานั้น ส่งผลทำให้การใช้ยาต้านจุลชีพในการรักษาโรคไม่ได้ผล หนึ่งในแนวทางการลดปัญหาดังกล่าว คือ การชะลอความไวของการเกิดการดื้อต่อยาต้านจุลชีพโดยการลดการใช้ยาต้านจุลชีพ เป็นผลทำให้การใช้ยาต้านจุลชีพเพื่อการเลี้ยงสัตว์จากปัจจุบันที่มีข้อจำกัดในการใช้ยาต้านจุลชีพมากอยู่แล้วนั้น ทำได้ยากยิ่งขึ้นไปอีก ท่ามกลางปัญหาดังกล่าวนักวิจัยและวิทยาศาสตร์ทั่วโลกพยายามค้นคว้าหาทางเลือกอื่น ๆ ที่จะสามารถนำมาทดแทนการใช้ยาต้านจุลชีพได้ ทางเลือกอื่นๆ ได้ถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การพัฒนาพันธุกรรมของสัตว์ให้มีความทนทานต่อเชื้อก่อโรค การคิดค้นและพัฒนาวัคซีนให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น การนำโปรไบโอติกส์มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของสัตว์และป้องกันเชื้อก่อโรค และการใช้ Antimicrobial peptides หรือ เปปไทด์ต้านจุลชีพ เปปไทด์ต้านจุลชีพ (Antimicrobial peptid) คือ กรดอะมิโนสายสั้นๆ มีความยาวไม่เกิน 50 อะมิโนเรียงต่อกัน สามารถพบได้ในสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดตั้งแต่ระดับจุลินทรีย์จนถึงในร่างกายมนุษย์ ร่างกายของสิ่งมีชีวิตสร้างเปปไทด์เหล่านี้ขึ้นเพื่อใช้ต่อต้านการรุกรานของเชื้อก่อโรค เปปไทด์ต้านจุลชีพมีคุณสมบัติในการต่อต้านเชื้อแบคทีเรียเสมือนเป็นภูมิคุ้มกันด่านหนึ่งของสิ่งมีชีวิตนั่นเอง จากการศึกษาพบว่าเปปไทด์ดังกล่าวสามารถแทรกซึมผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ของตัวแบคทีเรีย ทำให้เชื้อแบคทีเรียไม่สามารถคงสภาพอยู่ได้ และสามารถเข้าไปก่อกวนระบบการทำงานภายในเซลล์ของเชื้อแบคทีเรีย ส่งผลให้แบคทีเรียไม่สามารถคงตัวอยู่ได้เช่นกัน โดยเปปไทด์ดังกล่าวสามารถออกฤทธิ์ได้ดีทั้งแบคทีเรียชนิดแกรมลบ และแบคทีเรียที่มีผนังหนาอย่างแบคทีเรียแกรมบวก นอกจากนี้เปปไทด์ต้านจุลชีพยังมีประโยชน์ทางอ้อมในการช่วยส่งเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายได้อีกด้วย ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ทำให้เปปไทด์ต้านจุลชีพเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการนำมาใช้เพื่อการรักษาโรคแทนการใช้ยาต้านจุลชีพ โดยมีเปปไทด์หลายชนิดได้รับการคัดเลือกและนำมาใช้เพื่อการรักษา บางชนิดกำลังอยู่ในขั้นตอนการทดลองทางคลินิก ตัวอย่างเช่น pexiganan และ omiganan ซึ่งเป็นเปปไทด์ต้านจุลชีพที่มีการศึกษาค้นพบในสัตว์ โดย pexiganan พบในกบแอฟริกา มีการทดลองนำมาใช้ในเป็นส่วนผสมในครีมทาแผลเพื่อรักษาแผลหลุมจากโรคเบาหวาน ส่วน omiganan พบได้ในสัตว์จำพวกวัว ได้มีการทดลองนำมาใช้รักษาภาวะติดเชื้อจากการสอดท่อปัสสาวะในทางคลินิกเช่นกัน คำถามที่ตามมาคือเชื้อแบคทีเรียจะสามารถพัฒนาตัวเองให้มีความสามารถในการต้านทานเปปไทด์ต้านจุลชีพเหมือนที่สามารถต้านทานยาต้านจุลชีพได้หรือไม่ บทความทางวิชาการจากประเทศสวีเดนฉบับหนึ่งได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ไว้ว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการดื้อต่อเปปไทด์ต้านจุลชีพเหมือนกัน แต่โอกาสที่จะเกิดนั้นน้อยกว่าการเกิดการดื้อยาต้านจุลชีพมาก และมีการรายงานการดื้อเปปไทด์เฉพาะในการทดลองที่มีการสร้างสภาวะที่เอื้อต่อการเกิดการดื้อเท่านั้น คำอธิบายในเรื่องนี้ คือ เนื่องจากกลไกของยาต้านจุลชีพมีการจับกับตำแหน่งที่จำเพาะของแบคทีเรียและยังมีกลไกการทำลายแบคทีเรียที่แน่นอน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องง่ายสำหรับแบคทีเรียที่จะสามารถปรับตัวเพื่อต่อต้านได้ ขณะที่กลไกการออกฤทธิ์ของเปปไทด์นั้นมีการจับกับเยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อแบคทีเรียแบบหลวมๆ ในหลายตำแหน่งแตกต่างกัน จึงเป็นเรื่องยากที่แบคทีเรียจะจับจุดและพัฒนาความสามารถมาต่อต้านเปปไทด์ได้ จากข้อมูลดังกล่าวงานวิจัยและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเปปไทด์ต้านจุลชีพจึงเป็นที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากสำหรับนำมาทดแทนการใช้ยาต้านจุลชีพ สำหรับการนำเปปไทด์ต้านจุลชีพมาใช้ในการเลี้ยงสัตว์น้ำนั้น มีความเป็นไปได้หรือไม่ มากน้อยแค่ไหน และมีการทดลองใช้กันบ้างแล้วหรือยังจะต้องติดตามกันอยู่ แล้วจะมาเล่าสู่กันฟังต่อไปนะคะ สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม) |