การควบคุมเพศในสัตว์น้ำผ่านการจัดการชุดโครโมโซม
หลายสัปดาห์ที่ผ่านมาหมอได้มีโอกาสไปเยี่ยมเพื่อนสนิทที่เพิ่งคลอดบุตรที่โรงพยาบาลนะคะ เพื่อนได้ลูกสาวสมใจ และน่ารักมากๆ เลยค่ะ จริงๆ แล้วมันไม่มีเรื่องราวที่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของ Farm Story ได้เลย แต่อยู่ๆ ก็มีความคิดนึงแวบมาในหัวคะ ว่าปัจจุบันเทคโนโลยีการแพทย์ทำให้คนเราสามารถกำหนดเพศลูกได้ซึ่งการกำหนดเพศบุตรในบางประเทศสามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่สำหรับในอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์แล้ว เทคโนโลยีของการกำหนดหรือควบคุมเพศก็มีมานานในสัตว์หลายๆ ชนิดเหมือนกันค่ะทั้งวัว ควาย หมู จนไปถึงสัตว์ปีก และสัตว์น้ำเองด้วย การกำหนดเพศมีวิธีทำได้หลายรูปแบบแล้วแต่ชนิดสัตว์ และเทคโนโลยีนะคะ ทั้งนี้ สำหรับการควบคุมเพศในสัตว์น้ำ หรือ sex control ทำขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้สัตว์น้ำเจริญเติบโตก่อนช่วงเวลาที่สมควร ซึ่งมีผลต่อการวางแผนเรื่องการผสมพันธุ์ ถ้ามีการจัดการที่ไม่เหมาะสมบางครั้งจะทำให้ไม่สามารถวางแผนการผสมพันธุ์ได้เลย นอกจากนี้ การควบคุมเพศในสัตว์น้ำมีวิธีการทำให้ประชากรสัตว์น้ำที่เลี้ยงไว้เป็นเพศเดียวกันทั้งหมด (monosex population) เพื่อลดปัญหาที่สัตว์น้ำจะมีขนาดตัวไม่เท่ากันในระหว่างการเลี้ยง หรือเรียกว่าแตกไซส์นั่นเอง และยังช่วยลดปัญหาของลักษณะทางเพศที่มีผลต่อคุณภาพเนื้อ หรือเพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ สัตว์น้ำที่นิยมทำการควบคุมเพศ ก็คือ ปลานิล กุ้ง ปลาแซลมอน หอยนางรม หลายๆ ท่านคงพอทราบว่าการใช้ฮอร์โมนถือเป็นวิธีที่นิยมวิธีหนึ่งในการกำหนดเพศสำหรับปลานิล แต่ความจริงแล้วปัจจุบันยังมีอีกหลายวิธีที่สามารถนำมาใช้แปลงเพศปลาและสัตว์น้ำได้ เช่น การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม สภาพแวดล้อมที่ใช้เลี้ยง การนำเทคนิคทางพันธุกรรมวิศวกรรมเพื่อควบคุมการแสดงออกของยีนมาใช้ และการจัดการชุดโครโมโซม (Chromosome Ploidy Manipulation) ในวันนี้อยากจะเล่าในส่วนของการจัดการชุดโครโมโซม ฟังดูเหมือนจะเข้าใจยาก แต่ก็เป็นเรื่องที่พอทำความเข้าใจได้ลองมาอ่านกันค่ะ วิธีการจัดการชุดโครโมโซม (โครโมโซมเป็นหน่วยพันธุกรรม ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมและถ่ายทอดข้อมูล เกี่ยวกับ ลักษณะทางพันธุกรรม ซึ่งรวมถึงเพศด้วย) มีการใช้ในระบบอุตสาหกรรมการผลิตปลาที่ราคาสูงอย่างพวกปลาแซลมอนมาเป็นเวลานานแล้วค่ะ วิธีนี้เป็นการทำให้เกิดการช็อค (shock) ของเซลล์สืบพันธุ์ด้วยวิธีทางกายภาพ เช่น การใช้ความดัน อุณหภูมิ นอกจากนี้ยังมีการใช้สารเคมีหรือยาบางอย่างที่ส่งผลต่อชุดโครโมโซมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจำนวนชุดโครโมโซมเพิ่มมากขึ้น โดยปกติแล้วไข่จะมีโครโมโซมซึ่งมีการจําลองตัวเองแต่ยังไม่เกิดการแยกออกของโครโมโซมออกมาเป็นชุดเดี่ยว ทำให้ไข่มีโครโมโซมเป็น 2 ชุด (2n) การผสมของไข่กับเชื้อของตัวผู้จะทำให้ไข่แบ่งตัว (ในระยะ meiosis II) ในช่วงนี้ไข่ที่ผ่านการผสมใหม่ๆ จะมีโครโมโซมรวมเป็น 3 ชุด (3n) หนึ่งชุดมาจากพ่อ อีกสองชุดมาจากแม่ การช็อคไข่จะยับยั้งไม่ให้โครโมโซมจากฝั่งแม่ชุดหนึ่งฝ่อไป (ปกติจะฝ่อไป ทำให้โครโมโซมมีจำนวนเหลือ 2n) ตัวอ่อนจะมีการพัฒนาได้ตามปกติเพียงแต่เซลล์ในร่างการจะมีโครโมโซมสามชุด (triploid) ซึ่งจะทำให้เป็นหมัน ส่งผลให้ระบบสืบพันธุ์เจริญไม่เต็มที่โดยเฉพาะในเพศเมีย แซลมอนในระยะก่อนเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์จะมีการเก็บรักษาไขมันและสารอาหารอื่นๆ เช่น โปรตีน carotenoid และ astaxanthin ในเนื้อได้ดีกว่าวัยเจริญพันธุ์ การเกิดเป็นหมันจึงเป็นผลดีต่อการปรับปรุงคุณภาพเนื้อและอัตราการเจริญเติบโต อย่างไรก็ตามการจัดการชุดโครโมโซมมีข้อเสียคือจะทำให้ปลามีอัตราการรอดต่ำ อาจพบความผิดปกติทางรูปพรรณสัณฐานได้ และเปอร์เซ็นต์ความสำเร็จของการควบคุมเพศของปลาแต่ละชนิดจะต่างกัน การนำวิธีการจัดการชุดโครโมโซมไปใช้ทางการค้าจึงยังมีความท้าทายอยู่ ในปัจจุบันได้มีการศึกษาค้นคว้าการกำหนดเพศในหลายด้านมากขึ้น มีการศึกษาหายีนที่สามารถปรับเปลี่ยนตามการจัดการสภาพแวดล้อม/สิ่งแวดล้อมมากำหนดการแสดงเพศของสัตว์น้ำเพื่อนำมาประกอบใช้กับวิธีกำหนดเพศวิธีอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มทางเลือกของวิธีการควบคุมเพศของสัตว์น้ำอีกด้วยค่ะ สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม) |