
การประเมินโปรไบโอติก ตั้งแต่ต้นปีจนถึงตอนนี้ เกือบทุกคนคงจะชินกันแล้วว่าจะต้องป้องกันตัวเองและลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ COVID19 ยังไงบ้าง ทั้งล้างมือบ่อยๆ ใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเวลาอยู่ในที่สาธารณะ หยิบจับสิ่งของต้องล้างมือพ่นแอลกอฮอล์กันตลอด และยังรวมถึงเรื่องการปรับวิถีชีวิตให้อยู่กับแบบ physical distancing กันมากขึ้นด้วย การป้องกันการติดโรคฟังดูเป็นเรื่องยุ่งยากนะคะ แต่ลองคิดให้ดีแล้วเป็นเรื่องที่คุ้มค่ามากกว่าการป่วย ติดเชื้อ เป็นโรคเสียอีก ดูจากการที่ต้อง shut down หรือ lock down ปิดบ้านปิดเมือง ปิดห้าง ลดการเคลื่อนย้ายของคน ไม่ให้มีคนมารวมกันมากๆ แล้ว การป้องกันตัวเองไม่ให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อมันคุ้มกว่ามากๆ เลยทั้งต่อสุขภาพตัวเอง และภาพรวมของเศรษฐกิจนะคะ เช่นเดียวกันเลยค่ะสำหรับเรื่องการป้องกันโรคทั้งในคนและสัตว์ การป้องกันไม่ให้เกิดโรคในสัตว์ต้องทำอย่างต่อเนื่องเหมือนกัน และก็คุ้มค่ากว่าที่จะยอมให้มีโรคระบาดในฟาร์มนะคะ เราเรียกกิจกรรม มาตรการที่ใช้ในการป้องกันโรคในภาษาสวยๆ ว่า “เวชศาสตร์การป้องกัน” ก็ได้ค่ะ เวชศาสตร์การป้องกันเป็นศาสตร์ที่เน้นการส่งเสริมสุขภาพ และอาจมีการใช้สารอื่นแทนการใช้ยาเพื่อการรักษาโรค เช่น วัคซีน โปรไบโอติก คำว่า โปรไบโอติก หรือภาษาอังกฤษว่า probiotic มีรากศัพท์จากภาษากรีกแปลว่า “สำหรับชีวิต” ที่ผ่านมาเราได้อ่านบทความหลายๆ เรื่องเกี่ยวกับโปรไบโอติกทั้งในคนและสัตว์ จะเห็นว่ามีหลายการศึกษาที่ระบุว่า โปรไบโอติกมีคุณสมบัติเป็น anti-oxidant ที่ช่วยชะลอความแก่ ป้องกันโรคกระดูกพรุน โรคเบาหวาน โรคอ้วน และออทิสติก ซึ่งโปรไบโอติกจะผลิตสารที่มีคุณสมบัติคล้ายไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (H2O2) ซึ่งเป็นสารที่ใช้ยับยั้งแบคทีเรียใน ไปยับยั้งไม่ให้เชื้อก่อโรคไปยึดเกาะกับผนังลำไส้และโปรไบโอติกยังไปแย่งสารอาหารไม่ให้เชื้อก่อโรคเจริญเติบโตอีกด้วย นอกจากนี้ ยังพบว่าโปรไบโอติกช่วยทำลายสารพิษและยับยั้งไม่ให้สารพิษจับกับตัวรับสารพิษในร่างกาย รวมทั้งยังช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน แบคทีเรียที่นำมาใช้เป็นโปรไบโอติกที่ได้รับความนิยมทั้งในคนและสัตว์มีทั้งแบคทีเรียแกรมบวก เช่น Lactobacilli, bifidobacterial, Lactobacillus acidophilus-group, Bacillus coagulans, Enterococcus faeciumSF68 และแบคทีเรียแกรมลบ เช่น Escherichia coli strain Nissle 1917 นอกจากนี้ยังมีการนำยีสต์นำใช้เป็นโปรไบโอติก เช่น Saccharomyces boulardii โปรไบโอติกแต่ละชนิดมีคุณสมบัติจำเพาะแตกต่างกัน ผลิตภัณฑ์โปรไบโอติกที่พบในท้องตลาดอาจนำมาจากจุลินทรีย์ชนิดเดียวหรือหลายชนิดรวมกันก็ได้ ซึ่งการนำโปรไบโอติกหลายๆ ชนิดมาผสมเข้าด้วยกัน จะพบว่าโปรไบโอติกบางชนิดจะสร้างสารที่มีคุณสมบัติแตกต่างไปจากเดิม เนื่องจากตามธรรมชาติจุลินทรีย์จะสร้างสารขึ้นมายับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์บางชนิดได้ แต่เพื่อให้มั่นใจได้ว่าโปรไบโอติกมีประสิทธิภาพในการส่งเสริมสุขภาพโดยไม่ก่อให้เกิดผลลบต่อสุขภาพ หน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ อย่างเช่นองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้จัดทำเอกสารแนวทางเกี่ยวกับการประเมินโปรไบโอติกในอาหารขึ้นมา (Guidelines for the Evaluation of Probiotics in Food) สำหรับให้ผู้ที่สนใจในทุกสาขานำไปใช้ศึกษาค้นคว้าเพื่อประเมินและสร้างความมั่นใจว่าโปรไบโอติกนั้นๆ มีประสิทธิภาพดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค โดยเนื้อหาในภาพรวมของเอกสารแนวทางจาก WHO จะพูดถึง (1) การระบุชนิดของจุลินทรีย์และสายพันธุ์ที่ใช้ ซึ่งเป็นการศึกษาลักษณะ คุณสมบัติที่ปรากฏ (phenotype) และพันธุกรรม นำไปหาสารสำคัญที่จุลินทรีย์สร้างขึ้นมาเพื่อให้ทราบคุณสมบัติของสารดังกล่าว (2) ระบุหาและแยกสารที่โปรไบโอติกสร้างมาเพื่อนำไปทดสอบเบื้องต้นทางห้องปฏิบัติการ เช่น ทดสอบคุณสมบัติในการยับยั้งเชื้อก่อโรคชนิดอื่น การคงตัวภายใต้อุณหภูมิต่างๆ หรือกรดด่าง (3) ทดสอบความปลอดภัยต่อสุขภาพ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าโปรไบโอติกสายพันธุ์ที่ใช้ปลอดภัยและไม่เกิดการปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ถึงแม้โปรไบโอติกจะมีประโยชน์มากมาย แต่ก็มีข้อคำนึงในการใช้ เช่น ในบางสถานการณ์สำหรับโปรไบโอติกบางชนิดอาจสร้างสาร (metabolite) ที่เป็นพิษ หรือทำให้เกิดการแพ้ในบางคนได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องประเมินความปลอดภัยด้วย เมื่อปลอดภัยแล้วก็จะต้องนำมา (4) ทดสอบประสิทธิภาพของโปรไบโอติกในสิ่งมีชีวิต เช่น สัตว์ทดลองหรือมนุษย์ โดยจะมีการเปรียบเทียบกลุ่มที่ใช้โปรไบโอติก กับยาหลอก (placebo) จากนั้นจะทำการประเมินผลข้างเคียงต่อสุขภาพเป็นระยะๆ และ (5) เมื่อผ่านขั้นตอนการทดสอบทั้งหมด ก็จะนำข้อมูลที่ได้ตามการประเมินข้างต้นมาใช้เป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพื่อใช้สนับสนุนว่าโปรไบโอติกให้ประโยชน์ต่อสุขภาพได้จริง เช่น ปรับปรุงสมดุลจุลินทรีย์ในทางเดินทางอาหาร เมื่อพร้อมที่จะนำโปรไบโอติกไปใช้ในทางการค้าก็ควรมีการแสดงฉลากให้ผู้บริโภคทราบถึงประโยชน์ วิธีการใช้ และข้อควรระวัง และมีการขึ้นทะเบียนการใช้อย่างถูกต้องตามกฎหมายกำหนดค่ะ บทความนี้ก็เป็นอีกหนึ่งองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของโปรไบโอติกนะคะ คราวหน้าจะคุยกันเรื่องอะไร ก็ติดตามกันต่อไปค่ะ สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม) |