คำแนะนำสำหรับการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบนพื้นผิวไข่ปลาแซลมอน
ในการเลี้ยงสัตว์เชิงอุตสาหกรรมนั้น มีสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมากๆ ในระบบการเลี้ยงก็คือ เรื่องของระบบความปลอดภัยทางชีวภาพของฟาร์ม ซึ่งหลักการของระบบนี้จะต้องมีมาตรการที่ลดความเสี่ยงของการนำเข้าเชื้อก่อโรคจากนอกฟาร์มมาสู่ฟาร์ม ลดการแพร่ออกของเชื้อก่อโรคจากในฟาร์มไปสู่นอกฟาร์ม รวมทั้งลดการแพร่กระจายของเชื้อในหน่วยการผลิตในฟาร์มด้วยกรณีที่พบว่ามีปัญหาเกิดขึ้นในฟาร์ม จากบทความก่อนหน้านี้ที่เราเล่ากันฟังถึงเรื่องอุตสาหกรรมปลาแซลมอนนะคะ ที่มีนอร์เวย์เป็นประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก หลายๆ ท่านทราบแล้วว่าในการเลี้ยงปลาแซลมอนมีความซับซ้อนและระยะเวลาการเลี้ยงที่ยาวนานตั้งแต่ 1-2 ปี เพื่อให้ได้ปลาแซลมอนที่มีน้ำหนักตามที่ตลาดต้องการ โดยมีค่าน้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ 5 กิโลกรัม ดังนั้น การนำระบบความปลอดภัยทางชีวภาพมาใช้จะช่วยให้ระบบการผลิตมีคุณภาพและความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น โดยต้องดูแลครอบคลุมตั้งแต่การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่มีคุณภาพเพื่อนำมาใช้ การรีดไข่และน้ำเชื้อ การนำไข่มาผสมกับน้ำเชื้อ และการนำไข่มาล้างเพื่อฆ่าเชื้อก่อนนำไปฟักให้ได้เป็นลูกปลาวัยอ่อน ที่จะนำไปเลี้ยงต่อไป ในส่วนของการปฏิบัติในการฆ่าเชื้อบนผิวไข่ปลาแซลมอนที่โรงเพาะฟักนั้น นับเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นใจว่าจะไม่มีการแพร่กระจายของเชื้อก่อโรคระหว่างโรงเพาะฟัก อุปกรณ์ที่ใช้ในโรงเพาะฟักและสถานที่ และยังเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติประจำด้านสุขอนามัยของโรงเพาะฟัก กระบวนการฆ่าเชื้อบนผิวไข่ปลาแซลมอนยังมีความสำคัญในทางการค้าไข่ปลาแซลมอนระหว่างประเทศ โซนต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อก่อโรคบางชนิด ถึงแม้กระบวนการฆ่าเชื้อก่อโรคโดยทั่วไปจะมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อที่ผิวไข่ปลาแซลมอน แต่ต้องพึงระวังและตระหนักว่าการใช้สารฆ่าเชื้อก่อโรคจะไม่สามารถป้องกันการแพร่เชื้อในแนวตั้ง (vertical transmission) หรือที่เรียกว่าการแพร่เชื้อผ่านระบบสืบพันธุ์ของแม่ปลาไปยังไข่ปลาได้ ถึงแม้ว่าปัจจุบันมีสารเคมีหลายชนิดที่นำมาใช้ในการฆ่าเชื้อบนผิวไข่ปลาแซลมอน แต่สารที่นิยมใช้บ่อยที่สุดในการฆ่าเชื้อบนผิวไข่ปลาแซลมอน คือ ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมของไอโอดีน (iodine-based product) และโพวิดีนไอโอดีน (povidine-iodine) ไอโอโดพอร์ (iodophors) ซึ่งโดยทั่วไปแล้วคือ สารละลายโพวิโดน – ไอโอดีน มีข้อดีคือเป็นสารที่มีค่า pH เป็นกลางจึงไม่ระคายเคืองและไม่เป็นพิษ แต่อย่างไรก็ตามในการใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อต้องศึกษาฉลากการใช้งานรวมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ผลิตอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้งานและเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดในการฆ่าเชื้อ
สำหรับการปฏิบัติในการฆ่าเชื้อบนผิวของไข่ปลาแซลมอนนั้น องค์การสุขภาพสัตว์โลกได้แนะนำไว้ โดยวิธีการฆ่าเชื้อก่อโรคบนพื้นผิวไข่ปลาแซลมอนนี้สามารถนำไปใช้กับไข่ปลาแซลมอนที่เพิ่งผสมหรือไข่ปลาแซลมอนที่เริ่มพัฒนาแบบมีจุดตาแล้ว (eyed salmonid eggs) แต่หากจะนำไปใช้กับไข่ปลาแซลมอนที่เพิ่งผสมควรจะปล่อยให้ไข่เริ่มแข็งตัวเล็กน้อยก่อนที่จะดำเนินการฆ่าเชื้อโรค และพึงตระหนักว่า ถึงแม้ว่าจะปล่อยให้ไข่เริ่มแข็งแล้วจึงนำมาฆ่าเชื้อ แต่ก็ไม่แนะนำให้ใช้วิธีการฆ่าเชื้อนี้สำหรับไข่ที่ไม่ได้รับการผสมหรือในระหว่างการผสม นอกจากนี้ ยังมีจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรักษาระดับของค่า pH ของสารละลายไอโอโดฟอร์ (iodophore) ให้อยู่ระหว่าง 6 – 8 ในระหว่างการฆ่าเชื้อ ในการฆ่าเชื้อบนผิวของไข่ปลาแซลมอนควรใช้วิธีต่อไปนี้ 1. ล้างไข่ปลาแซลมอนด้วยน้ำเกลือปราศจากเชื้อโรค ที่ความเข้มข้น 0.9%-1.1% (pathogen-free 0.9% to 1.1.% saline) เป็นเวลา 30-60 วินาที เพื่อขจัดสิ่งสกปรกที่ปะปนมา 2. แช่ไข่ปลาแซลมอนในสารละลายไอโอดีนที่มีไอโอดีนเข้มข้น 100 ppm เป็นเวลาอย่างน้อย 10 นาที ทั้งนี้ ควรตรวจสอบความเข้มข้นของไอโอโดฟอร์เป็นระยะ เพื่อให้แน่ใจว่าอยู่ในระดับความเข้มข้นที่สามารถฆ่าเชื้อได้ โดยอัตราส่วนของไข่ปลาแซลมอนต่อสารละลายไอโอโดฟอร์ควรมีค่าสูงสุดที่ 1: 4 3. ล้างไข่ปลาแซลมอนอีกครั้งในน้ำเกลือปราศจากเชื้อโรค ที่ความเข้มข้น 0.9%-1.1% เป็นเวลา 30-60 วินาที 4. เก็บไข่ปลาแซลมอนไว้ในน้ำที่ปราศจากเชื้อโรค (pathogen-free water) ในการทำงานควรเตรียมสารละลายสำหรับล้างและฆ่าเชื้อโรคทั้งหมด โดยใช้น้ำที่ปราศจากเชื้อโรค หาก pH ต่ำ อาจใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต (NaHCO3) เป็นบัฟเฟอร์ของสารละลายไอโอโดฟอร์
หลักการคร่าวๆ ก็มีเพียงเท่านี้ สำหรับการฆ่าเชื้อบนผิวของไข่ปลาแซลมอน และหากจะทำความสะอาดฆ่าเชื้อบนพื้นผิวสำหรับไข่ปลาชนิดอื่นๆ จำเป็นจะต้องทดสอบความปลอดภัยของสารฆ่าเชื้อแต่ละชนิดก่อนว่าสามารถใช้ได้โดยไม่เป็นพิษต่อไข่ปลานั้นๆ และไม่ทำให้เกิดความสูญเสีย เนื่องจากสารเคมีแต่ละชนิดมีผลต่อสิ่งมีชีวิตแต่ละอย่างแตกต่างกันค่ะ รายละเอียดเรื่องนี้สามารถสืบค้นได้ที่ www.oie.int ค่ะ สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม) |