การฆ่าเชื้อโรคในสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ฟาร์ม และอุปกรณ์ (2)
หลักการของกระบวนการฆ่าเชื้อโรค คือ การล้างและทำความสะอาด การใช้สารฆ่าเชื้อ และการกำจัดหรือทำลายสารฆ่าเชื้อ เพื่อให้การฆ่าเชื้อเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพที่เล่าไว้คราวก่อนเป็นยังไง วันนี้มาอ่านกันต่อค่ะ 1. การล้างและทำความสะอาด การล้างและทำความสะอาดพื้นผิวและอุปกรณ์เป็นเรื่องที่สำคัญในการกำจัดขยะ สิ่งปะปน และสารเคมีที่ตกค้างก่อนการใช้สารฆ่าเชื้อ เนื่องจากสิ่งที่ปะปนและตกค้างอาจลดประสิทธิภาพของสารเคมีที่ใช้ฆ่าเชื้อโรคได้ อาจพิจารณาเลือกการใช้ผงซักฟอกในการทำความสะอาด ซึ่งจะช่วยในการย่อยสลายสิ่งสกปรกที่เคลือบอยู่บนพื้นผิว ผงซักฟอกที่ใช้ควรเข้ากันได้กับน้ำยาฆ่าเชื้อและพื้นผิวที่ทำความสะอาด หลังจากทำความสะอาดแล้วควรระบายหรือเทน้ำจากการทำความสะอาดออก จากนั้นจึงตรวจสอบพื้นผิวและอุปกรณ์ทั้งหมดให้แน่ใจว่าไม่มีสิ่งสกปรกหลงเหลืออยู่ ก่อนที่จะใช้น้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อฆ่าเชื้อต่อไป ในบางครั้งที่พบว่ามีสารแขวนลอยอยู่ในน้ำที่ใช้ล้างทำความสะอาด อาจต้องบำบัดน้ำก่อนเนื่องจากสารแขวนลอยอาจลดประสิทธิภาพของสารฆ่าเชื้อบางชนิดได้ การกำจัดสารแขวนลอยสามารถทำด้วยวิธีต่างๆ เช่น การกรอง การทำให้ตกตะกอน ผู้อ่านบางท่านอาจเคยได้ยิน ได้เห็นคำว่าไบโอฟิล์ม (Biofilms) หรือที่มักเรียกว่าสไลม์ (slime) มาบ้าง จะเป็นลักษณะของฟิล์มบาง ๆ ของเชื้อจุลินทรีย์ คราบเมือกที่เชื้อจุลินทรีย์มาเกาะปกคลุมพื้นผิว ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็ อย่างเช่น คราบสกปรก คราบเมือกที่มักพบในท่อ หรือพื้นผิวห้องน้ำ ซึ่งถ้าอยากให้การทำความสะอาดมีประสิทธิภาพก็ต้องเอาพวกไบโอฟิล์ม (Biofilms) นี้ออกไปจากพื้นผิวที่ต้องการฆ่าเชื้อในขั้นตอนการล้างและทำความสะอาดนี้ ก่อนที่จะเริ่มใช้สารฆ่าเชื้อในการฆ่าเชื้อ ของเสียที่เกิดขึ้นทั้งหมดภายหลังจากการล้างและทำความสะอาด ควรกำจัดและทำลายให้เหมาะสมด้วยวิธีการความปลอดภัยทางชีวภาพ เนื่องจากอาจมีความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อก่อโรคที่ถูกล้างออกมาจากขั้นตอนนี้ 2. การใช้สารฆ่าเชื้อ ขั้นตอนนี้เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้สารเคมี (chemical compounds) หรือใช้กระบวนการทางกายภาพ (physical process) ที่เหมาะสมเพื่อฆ่าเชื้อหรือยับยั้งเชื้อก่อโรค การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อควรคำนึงถึงชนิดของวัสดุที่ต้องการการฆ่าเชื้อและวิธีการ เช่น พื้นผิววัสดุที่แข็งและน้ำไม่ซึมสามารถผ่านได้ จำพวกพื้นผิวโลหะขัดเงา พลาสติก และคอนกรีตที่ทาสี สามารถทำความสะอาดได้ทั่วพื้นผิว และปล่อยให้สัมผัสกับน้ำยาฆ่าเชื้อได้ เนื่องจากโอกาสที่เชื้อจะตกค้างอยู่ในรอยแยกของพื้นผิวมีน้อย ทั้งนี้ สำหรับพื้นผิวที่สึกกร่อนเป็นหลุมหรือสีหลุดล่อนจะมีผลทำให้ประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อจะลดลง ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องมีการบำรุงรักษาพื้นผิวและอุปกรณ์อย่างเหมาะสม สำหรับพื้นผิวและวัสดุที่น้ำซึมผ่านได้จำพวกวัสดุทอ มุ้ง และพื้นดิน จะต้องใช้สารฆ่าเชื้อที่ความเข้มข้นสูงขึ้นและต้องให้เวลาพื้นผิวสัมผัสกับสารฆ่าเชื้อนานขึ้นกว่าการทำฆ่าเชื้อพื้นผิววัสดุที่แข็งและน้ำไม่ซึมสามารถผ่านได้ ในส่วนของการเลือกวิธีการใช้งานสารฆ่าเชื้อ ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าพื้นผิวทั้งหมดสัมผัสกับสารฆ่าเชื้อ ในระยะเวลามากเพียงพอที่สารสามารถฆ่าเชื้อได้ การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อควรวางแผนการดำเนินการอย่างเป็นระบบ เพื่อให้แน่ใจว่ามีการฆ่าเชื้อสมบูรณ์ ในการฆ่าเชื้อควรเริ่มต้นจากบริเวณที่สูงที่สุด และไล่ลงไปข้างล่าง และเริ่มจากบริเวณที่สกปรกน้อยที่สุดไปที่สกปรกที่สุด นอกจากนี้ สำหรับอุปกรณ์บางอย่างอาจชะผิวสัมผัสของอุปกรณ์ด้วยสารฆ่าเชื้อก็เพียงพอแล้ว เมื่อมีการใช้สารฆ่าเชื้อกับพื้นผิวแนวตั้งควรใช้ด้วยความระมัดระวังเพื่อให้แน่ใจว่าพื้นผิวได้สัมผัสกับสารฆ่าเชื้อในระยะเวลาที่เพียงพอต่อการฆ่าเชื้อ และต้องคำนึงถึงการระบายน้ำเสียหรือสารฆ่าเชื้อที่ใช้ในการฆ่าเชื้อด้วย สำหรับท่อและตัวกรองชีวภาพ (biofilter) ควรใช้น้ำยาฆ่าเชื้ออย่างระวัง เพื่อให้แน่ใจว่าสารฆ่าเชื้อสัมผัสทุกพื้นผิว 3. การกำจัดหรือทำลายสารฆ่าเชื้อ การกำจัดหรือทำลายสารฆ่าเชื้อตกค้างเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดความเป็นพิษต่อสัตว์น้ำ การกัดกร่อนของอุปกรณ์ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กระบวนการที่อาจใช้สำหรับการกำจัดหรือทำลายสารฆ่าเชื้อตกค้างมีหลายวิธี เช่น การล้างพื้นผิว การเจือจางสารฆ่าเชื้อให้อยู่ในระดับความเข้มข้นที่ยอมรับได้ การบำบัดของเสียจากการใช้สารฆ่าเชื้อเพื่อทำลายสารฆ่าเชื้อ สิ่งสำคัญในการทำงานเรื่องนี้ คือ ควรเลือกใช้สารฆ่าเชื้อตามที่กฎหมายอนุญาต การจัดเก็บ และการใช้สารเคมีต้องเป็นไปตามกฎหมาย และคำแนะนำของผู้ผลิต เนื่องจากการใช้สารฆ่าเชื้อที่ไม่ได้รับอนุญาตอาจมีความเสี่ยงต่อสุขภาพของคน สัตว์น้ำ และสิ่งแวดล้อม ท้ายที่สุดควรตรวจสอบการฆ่าเชื้อเพื่อให้แน่ใจว่าใช้ยาฆ่าเชื้อในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อขึ้นอยู่กับ ขั้นตอนการใช้สาร และเชื้อก่อโรค การตรวจสอบการฆ่าเชื้อสามารถทำได้หลายวิธี ประกอบด้วยการวัดสารออกฤทธิ์โดยตรง เช่น ระดับคลอรีนตกค้าง การวัดสารออกฤทธิ์ทางอ้อม เช่น การใช้ตัวบ่งชี้ ตรวจสอบศักยภาพในการลดออกซิเจน การวัดจำนวนเชื้อแบคทีเรีย สถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ฟาร์มควรเก็บบันทึกเกี่ยวกับกระบวนการวิธีการฆ่าเชื้อโรคที่ใช้ในสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ฟาร์ม และอุปกรณ์ เพื่อให้สามารถนำข้อมูลมาใช้ในประเมินแผนการฆ่าเชื้อโรคได้ วันนี้ร่ายยาวมามาก เรื่องการฆ่าเชื้อโรคในสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ฟาร์ม และอุปกรณ์นี้ยังมีอีกมากค่ะ ไม่จบง่ายๆ ไว้มาอ่านกันต่อค่ะ (ที่มา: www.oie.int) สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม) |