
การวางแผนการฆ่าเชื้อโรค ในสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ฟาร์ม และอุปกรณ์ กลับมาพบกันอีกครั้งสำหรับซีรีย์ยาวในเรื่องของการฆ่าเชื้อโรคในสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ฟาร์ม และอุปกรณ์นะคะ วันนี้เราจะมาดูกันว่า ที่เคยบอกไปในตอนแรกๆ ว่าการฆ่าเชื้อโรคจะต้องมีการวางแผนนั้น ทำอย่างไร และจะเกี่ยวข้องกับการฆ่าเชื้อโรคยังไงบ้างค่ะ ในการวางแผนการฆ่าเชื้อโรคในสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ฟาร์ม และอุปกรณ์ ต้องมีการประเมินเส้นทางการแพร่กระจายของเชื้อก่อโรคว่าจะสามารถเข้ามาในฟาร์มหรือสถานประกอบการในช่องทางไหนได้บ้าง เรียกภาษาอังกฤษ คือ เราต้องดู transmission pathway ของเชื้อ ถ้าจะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็จะขอเทียบเคียงกับเรื่อง timeline ในการสืบสวนการได้รับเชื้อ COVID-19 ในคนแล้วกันนะคะ กรมควบคุมโรคจะซักประวัติผู้ป่วยซึ่งมีโอกาสแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ พอทราบ timeline จะได้ตามย้อนไปสืบเส้นทางที่มีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดเชื้อต่อไป รวมถึงมีมาตรการในการพ่นยาฆ่าเชื้อ ทำความสะอาดสถานที่ที่ผู้ป่วยไปต่อไปตามลำดับขั้นตอนเพื่อลดการแพร่เชื้อจากอุปกรณ์หรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องตาม timeline นะคะ แต่ในวงการเลี้ยงสัตว์ก็จะเป็นรูปแบบที่ นักวิชาการฟาร์ม สัตวแพทย์ ต้องพิจารณาภาพรวมของการทำงานแล้วออกแบบวางแผนว่าในการทำงานมีจุดไหนบ้างที่สามารถทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะรับเชื้อเข้าสู่ฟาร์ม หรือสถานประกอบการ และจุดไหนบ้างที่เชื้อจะแพร่กระจายในฟาร์มได้ถ้าเกิดเหตุที่พบการระบาดของเชื้อก่อโรคในฟาร์ม และจุดที่เชื้ออาจแพร่ออกจากฟาร์มไปที่อื่นเกิดขึ้นได้ยังไงบ้างก็ต้องมานั่งพิจารณาในแต่ละขั้นตอนและวางแผนกันค่ะ ซึ่งพอวางแผนดูจุดเสี่ยงแล้วก็ต้องพิจารณาวางมาตรการเกี่ยวกับการทำความสะอาดไว้ด้วย ต้องคำนึงถึงชนิดของวัสดุที่ต้องการฆ่าเชื้อ เชื้อก่อโรคที่ต้องการทำลาย เป็นเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย ทนสารเคมีประเภทไหน หรือถูกทำลายด้วยวิธีการอย่างไรก็จะต้องมีข้อมูลเชื้อก่อโรคที่มีโอกาสพบได้ในฟาร์ม และในพื้นที่การเลี้ยง ต้องพิจารณามาตรการควบคุมและข้อควรระวังในการใช้สารฆ่าเชื้อทั้งในด้านสุขภาพและความปลอดภัย รวมทั้งพิจารณาสภาพแวดล้อมที่ต้องดำเนินการฆ่าเชื้อประกอบด้วย ในแผนการฆ่าเชื้อควรมีกลไกในการพิจารณาประสิทธิภาพของการดำเนินงานตามแผน ควรมีการทบทวนแผนการฆ่าเชื้อโรคอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้แน่ใจว่ากระบวนการฆ่าเชื้อยังคงมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล นอกจากนี้ ควรมีการบันทึกการเปลี่ยนแปลงแผนการฆ่าเชื้อด้วย กระบวนการวางแผนนอกจากพิจารณาจุดเสี่ยงที่อธิบายตอนต้นแล้ว ต้องมาคัดเลือกอีกว่าจุดไหนที่มีความเสี่ยงสูง ประเมินจุดนั้น ว่าเป็นจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม (critical control point) จุดนี้จะมีความสำคัญเมื่อเราดำเนินการฆ่าเชื้อในจุดนั้นไปแล้วจะได้ประสิทธิภาพสูงสุดในการทำลายเชื้อ จากนั้นจัดลำดับความสำคัญในการฆ่าเชื้อ โดยดูความเป็นไปได้ที่จะเกิดการปนเปื้อนเชื้อประกอบในการจัดลำดับด้วย สำหรับการฆ่าเชื้ออุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ที่คาดว่ามีเชื้อก่อโรค เช่น บ่อน้ำ ถังน้ำ ควรต้องมีการกำจัดสัตว์พาหะนำเชื้อ (vector) ด้วย เพื่อให้การทำลาย/ฆ่าเชื้อเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ควรพิจารณาเลือกและกำหนดวิธีการฆ่าเชื้อที่เหมาะสมสำหรับแต่ละอุปกรณ์ หรือสถานที่ที่ต้องการฆ่าเชื้อเพื่อการทำลายเชื้ออย่างเหมาะสม โดยประเมินวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง พื้นผิว อุปกรณ์ ความทนทานต่อการกัดกร่อนของสารฆ่าเชื้อของอุปกรณ์ หรือพื้นผิวแต่ละชนิดซึ่งมีความแตกต่างกัน ควรประเมินว่าจะต้องมีการทำความสะอาดเบื้องต้นสำหรับอุปกรณ์ พื้นผิว หรือสถานที่ก่อนการใช้สารฆ่าเชื้อสำหรับอุปกรณ์แต่ละประเภท หากมีคราบสกปรก และฝุ่นละออง ควรต้องทำความสะอาดคราบสิ่งสกปรกออกก่อน ในการทำความสะอาดทั้งการล้างทำความสะอาดปกติ หรือการใช้สารเคมีก็ควรจะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับการใช้สารฆ่าเชื้อที่จะต้องดำเนินการต่อในลำดับถัดไป และควรมีการประเมินบุคลากรที่มีหน้าที่ทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ ประเมินอุปกรณ์และวัสดุที่จะฆ่าเชื้อโดยคำนึงถึงประเภท และปริมาณของสิ่งของที่ต้องทำความสะอาดและวิธีการจัดการวัสดุเหลือทิ้ง การใช้น้ำในการทำความสะอาดฆ่าเชื้อก็เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงและพิจารณาตอนที่เราจะวางแผนการทำความสะอาดเช่นกันนะคะ และต้องดูทางระบายน้ำทิ้งประกอบด้วย เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับสภาพแวดล้อมและสุขภาพสัตว์ทั้งในฟาร์ม/นอกฟาร์ม เนื่องจากน้ำทิ้งก็มีส่วนสำคัญต่อการแพร่กระจายเชื้อโรคเหมือนกัน เรียกรวมๆ ทั้งหมดที่เขียนมาข้างต้นก็คือการวางแผนการทำความสะอาดฆ่าเชื้อ หรือ planning นั่นเองค่ะ สำหรับเรื่องของการฆ่าเชื้อในกรณีฉุกเฉินก็จะเป็นกรณีที่พิเศษขึ้นมาอีกหน่อยไว้มาอ่านกันตอนหน้าค่ะ สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม) |