การวางแผนการฆ่าเชื้อโรคกรณีฉุกเฉิน และการเลือกใช้สารฆ่าเชื้อ
การฆ่าเชื้อในกรณีฉุกเฉินเป็นส่วนสำคัญของการตอบสนองในภาวะฉุกเฉิน เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการควบคุมโรคให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น การกักกันโรคสัตว์ในสถานประกอบการหรือฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีการระบาดของโรค และขั้นตอนการกำจัดสัตว์ป่วยที่ติดเชื้อทั้งหมด การวางแผนการฆ่าเชื้อโรคในสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ฟาร์มในสภาวะฉุกเฉินมีเงื่อนไขที่แตกต่างจากการการฆ่าเชื้อโรคในสภาวะปกติที่ดำเนินอยู่ประจำในฟาร์ม ซึ่งในภาวะฉุกเฉินจะต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงของเชื้อก่อโรคที่เจอ ความสำคัญของโรค เช่น โรคที่ระบาดถเป็นโรคตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ ก็จะต้องดำเนินมาตรการกำจัดเช้อและสัตว์ที่ติดเชื้อมากกว่าโรคทั่วไป นอกจากนี้ ต้องพิจารณาปริมาณเชื้อก่อโรคว่ามีมากน้อยเท่าใด ปริมาณสัตว์น้ำที่ติดเชื้อและปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นเมื่อมีการทำลายเชื้อก่อโรคและสัตว์ที่ติดเชื้อ คำนึงถึงความกว้างของพื้นที่บ่อเลี้ยงที่ต้องฆ่าเชื้อ เงื่อนไขเหล่านี้มีผลต่อการวางแผนในการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินที่จะเกิดขึ้น ร่วมกับการประเมินความเสี่ยง และวิธีการติดตามประสิทธิภาพของการฆ่าเชื้อด้วย ในการตอบสนองในกรณีฉุกเฉินควรหลีกเลี่ยงการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ เครื่องมือ สิ่งของในบริเวณที่พบการระบาดหรือการติดเชื้อ เปรียบแล้วก็คล้ายๆ กับมาตรการ lockdown ในกรณี COVID-19 นะคะ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อออกจากบริเวณที่มีเชื้อก่อโรค แต่กรณีในฟาร์มเราจะงดเว้นการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์จากสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ติดเชื้อเว้น แต่จะมั่นใจว่าอุปกรณ์เหล่านั้นจะผ่านการฆ่าเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ ในบางสถานการณ์อาจมีอุปกรณ์หรือวัสดุที่ฆ่าเชื้อได้ยาก หรือมีโอกาสปนเปื้อนสูงอาจจำเป็นต้องทิ้ง หรือเอาออกจากระบบการเลี้ยงไปทำลาย โดยมีมาตรการการกำจัดออกจากฟาร์มเพื่อไปทำลายอย่างประสิทธิภาพแทนการฆ่าเชื้อในฟาร์มนะคะ สำหรับการเลือกใช้สารฆ่าเชื้อ ควรพิจารณาสิ่งต่อไปนี้ - ประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อก่อโรค - ความเข้มข้นของสารและเวลาที่ใช้ในการสัมผัสสิ่งที่ต้องการฆ่าเชื้อ ซึ่งทำให้ฆ่าเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ - การวัดประสิทธิภาพของสารฆ่าเชื้อ - ลักษณะของสิ่งของที่จะฆ่าเชื้อและโอกาสที่จะได้รับความเสียหายจากการใช้สารฆ่าเชื้อ - ความเข้ากันได้กับประเภทน้ำที่มีอยู่ในฟาร์ม หรือสถานประกอบการ (เช่น น้ำจืด น้ำกระด้าง หรือน้ำทะเล) - ความพร้อมของน้ำยาฆ่าเชื้อและอุปกรณ์ - สารฆ่าเชื้อควรใช้งานง่าย - การกำจัดสารอินทรีย์ - ค่าใช้จ่าย - ผลกระทบจากการตกค้างในสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม และ - ความปลอดภัยของผู้ใช้ คราวหน้ามาดูเรื่องประเภทของสารฆ่าเชื้อกันค่ะ สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม) |