ประเภทของสารฆ่าเชื้อในสถานประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ฟาร์ม และอุปกรณ์ (1)
ซีรีย์ยาวในวันนี้ เรามาอ่านต่อกันในหัวข้อของประเภทของสารฆ่าเชื้อที่ใช้ในสถานประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ฟาร์ม และอุปกรณ์กันค่ะ หลายท่านน่าจะพอทราบกันมาอยู่บ้างว่าถ้าจะเขียนถึงประเภทของสารฆ่าเชื้อที่นิยมใช้ ก็จะมีอยู่ประมาณนี้นะคะ 1. สารออกซิไดซ์ (Oxidising agents) สารออกซิไดซ์ส่วนใหญ่ออกฤทธิ์ค่อนข้างเร็วและเป็นสารฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อจุลินทรีย์จำนวนมาก อย่างไรตาม ถ้าหากวัสดุ อุปกรณ์หรือพื้นผิวที่ต้องการทำความสะอาดด้วยสารชนิดนี้ มีสิ่งสกปรกเกาะติด ปกคลุมอยู่มาก จะมีผลต่อประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อของสาร ดังนั้น จึงควรทำความสะอาดวัสดุ อุปกรณ์หรือพื้นผิวให้สะอาดที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ ก่อนนำสารออกซิไดซ์มาใช้ เพื่อประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อก่อโรค ในการใช้สารออกซิไดซ์ต้องมีการตรวจสอบความเข้มข้นของสารฆ่าเชื้ออย่างสม่ำเสมอเพื่อให้แน่ใจว่ายังคงมีปริมาณสารมากพอที่จะมีประสิทธิภาพฆ่าเชื้อในช่วงเวลาที่กำหนด เนื่องจากความเข้มข้นของสารในระดับที่สามารถทำลายเชื้อได้จะลดลงไปได้เมื่อสัมผัสกับอินทรีย์วัตถุ ทำให้ระดับความเข้มข้นของสารต่ำกว่าที่ควรจะเป็นที่ใช้ในการฆ่าเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ สารออกซิไดซ์อาจเป็นพิษต่อสัตว์น้ำได้ ดังนั้น ในการใช้สารชนิดนี้ในสถานประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และฟาร์มจะต้องระมัดระวังไม่ให้ปนเปื้อนไปยังส่วนที่ยังมีการผลิตอยู่ได้ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อสัตว์น้ำในระบบการผลิตค่ะ สารออกซิไดซ์ที่พบได้ทั่วไป ได้แก่ สารประกอบคลอรีน คลอรามีนที (chloramine-T) ไอโอโดฟอร์ (iodophores) สารประกอบเปอร์ออกซิเจน (peroxygen compounds) คลอรีนไดออกไซด์ (chlorine dioxide) และโอโซน (ozone) 2. สารปรับค่า pH (pH modifiers, alkalis and acids) สามารถใช้สารประกอบอัลคาไลน์ หรือกรดมาปรับค่า pH หรือค่าความเป็นกรดด่างได้ ซึ่งข้อดีของการใช้สารปรับค่า pH ก็คือ กำหนดความเข้มข้นง่าย ไม่ถูกทำลายประสิทธิภาพของการฆ่าเชื้อจากอินทรีย์วัตถุ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในพื้นที่ที่ไม่สามารถใช้สารฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพอื่น ๆ ได้ เช่น ในท่อ หรือบนพื้นผิวที่เป็นไบโอฟิลเตอร์ (biofilters) 3. อัลดีไฮด์ (Aldehydes) อัลดีไฮด์มีคุณสมบัติในการทำลายโปรตีน สารประกอบอัลดีไฮด์ 2 ชนิดที่นิยมใช้ในสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำคือ ฟอร์มาลดีไฮด์ (formaldehyde) และกลูตารัลดีไฮด์ (glutaraldehyde) สารประกอบอัลดีไฮด์มีประสิทธิภาพสูงในการทำลายจุลชีพหลายชนิด แต่ต้องใช้เวลาในการสัมผัสกับสิ่งที่ต้องการทำลายนาน สารประกอบอัลดีไฮด์มีฤทธิ์กัดกร่อนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และยังสามารถรักษาประสิทธิภาพในการทำลายไว้ได้แม้ว่าจะมีการปนเปื้อนของอินทรียวัตถุอยู่ สารกลูตารัลดีไฮด์มักใช้ในรูปของของเหลว เป็นสารฆ่าเชื้อแบบเย็น เหมาะกับการใช้ฆ่าเชื้อพื้นผิว วัสดุอุปกรณ์ที่ไวต่อความร้อน สำหรับสารฟอร์มาลดีไฮด์อาจใช้ในรูปของก๊าซ ในรูปแบบของการรมควัน 4. ไบกัวไนด์ (Biguanides) หลายท่านอาจไม่คุ้นเคยกับชื่อของสารประกอบตัวนี้ ในบรรดา biguanides ที่มีอยู่ อาจคุ้นกับชื่อของคลอเฮกซิดีนมากกว่า ซึ่งเป็นสารที่นิยามใช้กันมาก แต่มีข้อจำกัดตรงที่ประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อจะลดลงหรือไม่ได้ผลเมื่อใช้กับน้ำกระด้างหรืออัลคาไลน์ และจะมีประสิทธิภาพน้อยกว่าในการฆ่าเชื้อก่อโรคหลายชนิดเมื่อเทียบกับสารฆ่าเชื้อกลุ่มอื่น ๆ ข้อดีของสารประกอบประเภทนี้ คือ ฤทธิ์การกัดกร่อนพื้นผิว วัสดุน้อย จึงค่อนข้างปลอดภัย ดังนั้น จึงมักใช้ในการฆ่าเชื้อโรคบนพื้นผิวและอุปกรณ์ที่บอบบางค่ะ ที่กล่าวมาเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับสารฆ่าเชื้อที่นิยมใช้ฆ่าเชื้อโรคในฟาร์มและสถานประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำนะคะ ยังเหลืออีกหลายประเภทไว้คราวหน้ามาอ่านต่อค่ะ สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม) |