ข้อควรคำนึงถึงในการฆ่าเชื้อสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ฟาร์ม และอุปกรณ์ (1)
กลับมาอ่านกันต่อเรื่องของการฆ่าเชื้อและทำความสะอาด หลายๆ ท่านน่าจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าประเภทของสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ฟาร์ม และอุปกรณ์มีลักษณะแตกต่างกันอย่างมาก และสิ่งเหล่านี้มีผลต่อประสิทธิภาพของการฆ่าเชื้อและทำความสะอาด ดังนั้น ในการพิจารณาการฆ่าเชื้อและทำความสะอาดควรต้องคำนึงถึงลักษณะเฉพาะของสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ฟาร์ม และอุปกรณ์ก่อนวางแผนและทำการฆ่าเชื้อด้วย โดยมีรายละเอียดที่ต้องคำนึงถึงตามนี้เลยค่ะ 1. บ่อ โดยทั่วไปแล้วในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มักจะขุดบ่อขนาดใหญ่และอาจมีพื้นบ่อเป็นดิน หรือมีการปูด้วยแผ่นพลาสติกที่พื้นบ่อ ลักษณะของบ่อเพาะเลี้ยงแบบนี้ร่วมกับน้ำในบ่อที่มีปริมาณมากทำให้ดำเนินการทำความสะอาดได้ยาก และมักพบว่ามีการสะสมของของเสียอยู่สูง ซึ่งอาจส่งผลต่อสารเคมีหลายชนิด ที่ใช้ในการฆ่าเชื้อ ก่อนที่จะดำเนินการฆ่าเชื้อโรคควรมีการระบายน้ำและกำจัดสารอินทรีย์ออกจากบ่อให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ น้ำและสารอินทรีย์ทั้งหมดที่ถูกกำจัด/ถ่ายเทออกมาจากบ่อควรมีการฆ่าเชื้อ ถ้าเป็นบ่อดินควรทำให้บ่อดินแห้งอย่างทั่วถึง และสามาถใช้ปูนขาวโรยพื้นบ่อเพื่อเพิ่ม pH และช่วยในการยับยั้งเชื้อก่อโรค การขูด การไถ หรือการลอกพื้นบ่อที่ไม่ได้ปูพื้นด้วยพลาสติกจะช่วยทำให้พื้นบ่อแห้งง่ายขึ้น และส่งเสริมประสิทธิภาพในการใช้ปูนขาว 2. แท็งก์ ถังที่ใช้เพาะเลี้ยง วัสดุที่ใช้ในการทำแท็งก์ ถังที่ใช้เพาะเลี้ยง เช่น ไฟเบอร์กลาส คอนกรีต หรือพลาสติก จะเป็นปัจจัยที่กำหนดประเภทของวิธีการฆ่าเชื้อโรคที่ใช้กับวัสดุนั้น - แท็งก์หรือถังที่ทำมาจากคอนกรีตเปลือยจะเกิดการกัดกร่อนจากการใช้สารเคมีที่เป็นกรดได้ และการใช้เครื่องฉีดพ่นแรงดันสูงอาจก่อให้เกิดความเสียหาย กัดกร่อนพื้นผิวได้เช่นกัน นอกจากนี้คอนกรีตเปลือยยังมีรูพรุน ดังนั้น จึงต้องใช้สารเคมีฆ่าเชื้อในระยะเวลาที่นานขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่ามีการฆ่าเชื้อโรคอย่างมีประสิทธิภาพ - แท็งก์ ถังพลาสติกทาสี และไฟเบอร์กลาสสามารถฆ่าเชื้อได้ง่ายกว่า เนื่องจากมีพื้นผิวที่เรียบและไม่มีรูพรุนทำให้สามารถทำความสะอาดได้ทั่วถึง และมีความทนทานต่อสารเคมีส่วนใหญ่ที่ใช้ในการฆ่าเชื้อ - ควรระบายน้ำทิ้งและกำจัดสารอินทรีย์ออกจากแท็งก์ ถังที่ใช้เพาะเลี้ยงให้มากที่สุดก่อนดำเนินการฆ่าเชื้อโรค และเช่นเดียวกับการทำความสะอาดบ่อเพาะเลี้ยงนะคะ น้ำและสารอินทรีย์ทั้งหมดที่ถูกกำจัด/ถ่ายเทออกมาจากบ่อควรมีการฆ่าเชื้อ ควรถอดอุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่กับแท็งก์ ถังที่ใช้เพาะเลี้ยงออก และแยกกันทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรค กำจัดคราบสกปรก ขยะ และเศษซากที่ติดอยู่ออกให้หมด รวมทั้งควรล้างพื้นผิวแท็งก์ ถังโดยใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง หรือใช้น้ำยาทำความสะอาดร่วมกับการขัดถูด้วยเพื่อขจัดสิ่งสกปรก เช่น สาหร่ายและ biofilm ที่เคลือบบนพื้นผิวออก อาจใช้น้ำอุ่นเพิ่มเติมในขั้นตอนของกระบวนการทำความสะอาด ก่อนเริ่มใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ ควรระบายน้ำที่ใช้ทำความสะอาดในขั้นตอนแรกออกและฆ่าเชื้อหรือกำจัดน้ำทิ้งด้วย สำหรับพื้นผิวแนวตั้ง เมื่อใช้น้ำยาฆ่าเชื้อกับพื้นผิวลักษณะนั้นควรใช้ด้วยความระมัดระวัง เพื่อให้แน่ใจว่ามีสารเคมีฆ่าเชื้อจะมีเวลาสัมผัสกับพื้นผิวนานพอที่จะฆ่าเชื้อได้ ก่อนที่สารเคมีฆ่าเชื้อไหลลงมาและถูกระบายออก ภายหลังจากฆ่าเชื้อแล้วควรล้างแท็งก์ ถังเพื่อกำจัดสิ่งสารเคมีฆ่าเชื้อ รวมทั้งเศษคราบสกปรกที่ตกค้างทั้งหมด จากนั้นจึงปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งสนิท 3. ท่อ การฆ่าเชื้อในท่อเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะว่าอาจไม่สามารถเข้าถึงพื้นผิวด้านในของท่อได้ทั่วถึง ในการเลือกวิธีการฆ่าเชื้อโรคควรคำนึงถึงวัสดุที่ใช้ทำท่อด้วย การทำความสะอาดท่อสามารถใช้สารละลายด่างหรือกรดหรือระบบโฟมทำความสะอาดท่อแบบพรเจกไทล์ (foam projectile pipe cleaning systems) เพื่อให้การทำความสะอาดมีประสิทธิภาพจะต้องเอาคราบ biofilm ออกก่อน จากนั้นจึงล้างสิ่งสกปรกให้สะอาด เมื่อทำความสะอาดท่อแล้วจึงใช้น้ำยาเคมีฆ่าเชื้อ หรือฉีดน้ำอุ่นให้ไหลเวียนในท่อ ในกระบวนการทั้งหมดจะต้องมีการเติมน้ำยาเคมีฆ่าเชื้อหรือน้ำอุ่นให้เต็มท่อ เพื่อให้พื้นผิวภายในได้รับการสัมผัสอย่างทั่วถึง วันนี้เอาข้อมูลกันไปเบาๆ ก่อนนะคะ แล้วมาพบตอนต่อในรอบหน้าค่ะ สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม) |