ข้อควรคำนึงถึงในการฆ่าเชื้อสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ฟาร์ม และอุปกรณ์ (2)
มาต่อกันเลยค่ะ สำหรับข้อควรคำนึงถึงในการฆ่าเชื้อสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ฟาร์ม และอุปกรณ์ วันนี้มาอ่านกันเกี่ยวกับเรื่องของกระชังตาข่าย วัสดุเส้นใยอื่น ๆ และยานพาหนะค่ะ 4. กระชังตาข่าย วัสดุเส้นใยอื่น ๆ กระชังตาข่ายที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงสำหรับแต่ละฟาร์มมีขนาดแตกต่างกัน หากใช้กระชังขนาดใหญ่จะยากต่อการจัดการและการทำความสะอาดฆ่าเชื้อ จะพบการตกค้างของคราบสกปรก เมือก biofilm เกาะอยู่มากตามช่องตาข่าย ควรกำหนดให้มีการใช้กระชังตาข่ายเฉพาะสำหรับแต่ละสถานที่เพาะเลี้ยงในฟาร์ม ไม่ปะปนกันหรือใช้วนกันไป เนื่องจากมีโอกาสปนเปื้อนสูงและอาจฆ่าเชื้อได้ยาก เมื่อนำกระชังตาข่ายขึ้นมาจากน้ำแล้วควรย้ายตาข่ายไปยังพื้นที่ซักล้างทำความสะอาดโดยตรง ควรทำความสะอาดกระชังตาข่ายให้สะอาดก่อนเริ่มขั้นตอนการฆ่าเชื้อโรค โดยอาจใช้ผงซักฟอกเพื่อกำจัดสารอินทรีย์ คราบสกปรก และช่วยให้สารฆ่าเชื้อทางเคมีซึมผ่านได้ดีขึ้น และสัมผัสกับวัสดุได้มากขึ้น และสิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือต้องอย่าลืมกำจัดน้ำทิ้ง และคราบสกปรกโดยคำนึงถึงความปลอดภัยทางชีวภาพด้วย หลังจากทำความสะอาดแล้ว อาจฆ่าเชื้อด้วยการแช่ในน้ำยาเคมีฆ่าเชื้อหรือน้ำอุ่น และแช่ทิ้งไว้ในระยะเวลาที่เหมาะสมเพียงพอในการทำลายเชื้อโรคอย่างมีประสิทธิภาพ การทำความสะอาดฆ่าเชื้อจะมีผลต่อความคงทนแข็งแรงของกระชังตาข่าย ซึ่งการเลือกใช้สารเคมีและวิธีการทำความสะอาดฆ่าเชื้อจะต้องเหมาะสมกับวัสดุด้วย เมื่อฆ่าเชื้อเสร็จแล้วควรตากให้แห้งหรือทำให้แห้งก่อนเก็บ กระชังตาข่ายที่ไม่แห้งสนิทจะกักเก็บความชื้นไว้ ซึ่งอาจทำให้เกิดเชื้อรา หรือทำให้เชื้อก่อโรคที่ตกค้างอยู่เจริญเจิบโตขึ้นมาได้ วัสดุเส้นใยอื่น ๆ เช่น เชือก และแห มีลักษณะคล้ายกับกระชังจาข่าย ซึ่งต้องมีการพิจารณาเป็นพิเศษ หากเป็นไปได้ขอแนะนำให้ใช้อุปกรณ์ที่เป็นวัสดุเส้นใยแบบนี้ แยกไว้ในแต่ละพื้นที่การเลี้ยงไม่ปะปน หรือเวียนมาให้กับพื้นที่การเลี้ยงอื่นๆ จะง่ายต่อการจัดการฟาร์มกรณีพบปัญหาที่มาจากอุปกรณ์ที่ทำด้วยวัสดุเส้นใย 5. ยานพาหนะ การปนเปื้อนของเชื้อก่อโรคในยานพาหนะพบได้ในกรณีที่มีการขนส่งการซากสัตว์น้ำ ขนส่งสัตว์น้ำมีชีวิต ขนส่งสัตว์ตาย ทั้งนี้ ควรต้องฆ่าเชื้อบนพื้นผิวของยานพาหนะทั้งภายในและภายนอกที่อาจปนเปื้อนสิ่งสกปรกทั้งหมด รวมทั้งควรพิจารณาบริเวณเหล่านี้ที่อาจปนเปื้อนเป็นพิเศษด้วย เช่น พื้นผิวภายในของภาชนะ ท่อน้ำที่เป็นอุปกรณ์ของยานพาหนะที่ใช้ขนส่ง และของเสีย ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารฆ่าเชื้อที่มีฤทธิ์กัดกร่อนหรือหากจำเป็นต้องใช้ เมื่อใช้แล้วรีบล้างออกให้หมด สาออกซิเดทีฟ เช่น คลอรีน เป็นสารฆ่าเชื้อที่นิยมใช้สำหรับการฆ่าเชื้อยานพาหนะ บางฟาร์มอาจมีเรือไว้ใช้ในฟาร์ม ไม่ว่าจะลำใหญ่หรือเล็กก็มีหลักการในการทำความสะอาดฆ่าเชื้อเหมือนกันค่ะ แต่ว่าเรือลำใหญ่จะมีขั้นตอนยุ่งยากในการทำความสะอาดมากกว่า ถ้าเก็บวัสดุอุปกรณ์มากก็จะยิ่งซับซ้อนนะคะ เรือทุกลำควรมีการฆ่าเชื้อโรคเป็นประจำเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีเชื้อก่อโรค ระดับการปนเปื้อนของเชื้อก่อโรคที่พบจากเรือขึ้นอยู่กับการใช้งาน เรือที่ใช้ในการเก็บเกี่ยว หรือกำจัดสัตว์น้ำที่ตายแล้วออกจากสถานที่เพาะเลี้ยงจะมีโอกาสปนเปื้อนเชื้อก่อโรคสูง ในขั้นตอนการวางแผนการฆ่าเชื้อควรมีการประเมินเพื่อระบุและกำหนดพื้นที่ที่มีโอกาสปนเปื้อน เช่น รอบ ๆ บริเวณเครื่องจักรบนเรือ ถังเก็บน้ำ ใต้ท้องเรือ และท่อ ควรถอดอุปกรณ์ที่สามารถถอดมาทำความสะอาดได้ และฆ่าเชื้อแยกต่างหากจากการฆ่าเชื้อโรคในเรือ ควรให้ความสำคัญกับการฆ่าเชื้อเรือและอุปกรณ์บนเรือ เนื่องจากเรือเป็นแหล่งหนึ่งที่สามารถแพร่กระจายเชื้อก่อโรค สำหรับน้ำทิ้งที่ปนเปื้อนควรได้รับการฆ่าเชื้อก่อนระบายออก หากเป็นไปได้ เมื่อไม่ได้ใช้งานเรือ ควรนำเรือมาไว้บนบก หรือเทียบท่า ตากแดดไว้ให้แห้งเพื่อการฆ่าเชื้อโรคและป้องกันไม่ให้น้ำเสียที่อาจสามารถไหลเข้าเรือได้ ในกรณีที่ไม่สามารถนำเรือขึ้นฝั่งหรือเทียบท่า และตากแดดให้แห้งได้ควรมีวิธีการฆ่าเชื้อโรคที่ช่วยลดการปล่อยสารเคมีที่เป็นพิษสู่สิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ควรตรวจสอบและทำความสะอาดตัวเรืออย่างสม่ำเสมอ อาจใช้เครื่องฉีดพ่นแรงดันสูง หรือเครื่องทำความสะอาดไอน้ำในการฆ่าเชื้อโรค ยังไม่หมดนะคะสำหรับข้อควรคำนึงถึงในการฆ่าเชื้อสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ฟาร์ม และอุปกรณ์ ครั้งหน้ามาต่อตอนที่ 3 กันค่ะ สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม) |