ข้อควรคำนึงถึงในการฆ่าเชื้อสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ฟาร์ม และอุปกรณ์ (3)
กลับมาพบกันอีกครั้งกับตอนที่ 3 ของข้อควรคำนึงถึงในการฆ่าเชื้อสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ฟาร์ม และอุปกรณ์นะคะ ไม่เสียเวลา เรามาเริ่มกันเลยค่ะ 6. อาคาร เมื่อพิจารณาถึงสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่ อาคารสำหรับเพาะเลี้ยง พื้นที่การเก็บเกี่ยว ขึ้นปลา และอาคารที่ใช้แปรรูปสัตว์น้ำ รวมทั้งอาคารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บอาหารสัตว์และอุปกรณ์ จะเห็นว่าวิธีการฆ่าเชื้อโรคอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับโครงสร้างของอาคาร และระดับของโอกาสที่อาคารจะมีการสัมผัสกับวัสดุและอุปกรณ์ที่ปนเปื้อนเชื้อก่อโรค หากเป็นไปได้ตั้งแต่เริ่มแรกในการสร้างอาคาร อาคารควรมีการออกแบบเพื่อให้ง่ายต่อการทำความสะอาดอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดพื้นผิวภายในทั้งหมดได้อย่างทั่วถึง อาคารบางแห่งจะมีระบบท่อเครื่องจักร และถังที่ซับซ้อนซึ่งจะทำการฆ่าเชื้อได้ยาก หากสามาถทำได้ควรกำจัดเศษซากและล้างอุปกรณ์ก่อนในอาคารก่อนเริ่มกระบวนการฆ่าเชื้อโรค สำหรับการฆ่าเชื้อในบริเวณที่ซับซ้อน และพื้นผิวที่เป็นแนวตั้ง สามารถใช้สารที่ทำให้เกิดควันหรือฟองเป็นตัวเลือกในการฆ่าเชื้อ การรมควันถือได้ว่าเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับการฆ่าเชื้อในพื้นที่ขนาดใหญ่ หรือพื้นที่ที่ยากต่อการเข้าถึงหากสามารถปิดผนึกอาคารได้ 7. ตู้ ภาชนะบรรจุ คอนเทนเนอร์ ตู้ ภาชนะบรรจุ คอนเทนเนอร์มีการนำมาใช้ในฟาร์มหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ถังพลาสติกธรรมดาที่ใช้ในการขนส่งสัตว์น้ำมีชีวิตหรือสัตว์น้ำที่ตายแล้ว จนถึงระบบถังที่ซับซ้อนซึ่งใช้สำหรับการขนส่งสัตว์น้ำมีชีวิต โดยทั่วไปฟาร์มมักใช้ภาชนะบรรจุที่เป็นวัสดุเรียบไม่มีรูพรุน เช่น พลาสติก สแตนเลส ซึ่งสามารถฆ่าเชื้อได้ง่าย ในกรณีของการขนส่งสัตว์น้ำที่มีชีวิตภาชนะบรรจุอาจมีท่อและระบบสูบน้ำและพื้นที่อับอากาศที่ควรฆ่าเชื้อด้วย ภาชนะที่ใช้กับสัตว์น้ำถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์ของสัตว์น้ำ เช่น เลือดสัตว์น้ำที่ติดเชื้อ นอกจากนี้ อุปกรณ์เหล่านี้มักจะถูกย้ายไปใช้งานในพื้นที่ต่างๆ ทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นอุปกรณ์แพร่กระจายของเชื้อก่อโรค ก่อนเริ่มกระบวนการฆ่าเชื้อควรระบายน้ำออกจากภาชนะบรรจุให้หมด ล้างอุจจาระและเศษสกปรกอื่น ๆ ออกด้วยน้ำสะอาด ควรตรวจสอบและล้างท่อ ปั๊มที่เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วย จากนั้นควรล้างภาชนะโดยใช้ผงซักฟอกโดยอาจใช้ร่วมกับเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงหรือการขัดพื้นผิวภายในและภายนอกทั้งหมดของภาชนะบรรจุ จากนั้นจึงใช้สารเคมีที่เหมาะสม ฆ่าเชื้อโรค แล้วค่อยล้างออกและตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีสิ่งสกปรกตกค้างก่อนนำไปเก็บในที่ที่ระบายอากาศได้ดี ทำให้แห้ง 8. ไบโอฟิลเตอร์ (Biofilters) ในระบบการผลิตแบบปิด (closed production systems) หรือกึ่งปิด (semi-closed production systems) ที่มีการใช้ไบโอฟิลเตอร์ ไบโอฟิลเตอร์เป็นจุดที่สำคัญสำหรับการควบคุมโรค ไบโอฟิลเตอร์ออกแบบมาเพื่อรักษากลุ่มแบคทีเรียที่มีประโยชน์สำหรับการปรับปรุงคุณภาพน้ำ ซึ่งอาจทำให้แบคทีเรียก่อโรคเจริญเติบโตได้เช่นกัน การดำเนินการฆ่าเชื้อในไบโอฟิลเตอร์จะทำลายแบคทีเรียที่มีประโยชน์ไปด้วย ดังนั้นจึงควรคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย เนื่องจากจะมีผลต่อคุณภาพน้ำได้หากแบคทีเรียที่มีประโยชน์ถูกทำลาย เมื่อทำการฆ่าเชื้อไบโอฟิลเตอร์ ควรระบายน้ำและสิ่งสกปรกออกจากระบบและทำความสะอาดพื้นผิวให้สะอาด การฆ่าเชื้อระบบไบโอฟิลเตอร์สามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนระดับ pH ของน้ำ โดยใช้สารละลายกรดหรือด่าง ในกรณีที่ใช้สารปรับ pH จะต้องมั่นใจว่าปรับระดับ pH จนเพียงพอที่จะทำลายเชื้อก่อโรค แต่ไม่กัดกร่อนปั๊มและอุปกรณ์ภายในระบบไบโอฟิลเตอร์ หรืออีกวิธีหนึ่งคือถอดตัวกรองไบโอฟิลเตอร์ที่ถอดได้ออกทั้งหมด แล้วทำความสะอาดแบบแยก ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อแยกกัน (ในกรณีของสถานการณ์ฉุกเฉินแนะนำให้ใช้ขั้นตอนการถอดชิ้นส่วน แยกทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ) ควรเปลี่ยนวัสดุกรองไบโอฟิลเตอร์หากไม่สามารถฆ่าเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ควรล้างระบบกรองไบโอฟิลเตอร์ให้สะอาดก่อนที่จะทำการเลี้ยงสัตว์น้ำรอบใหม่ 9. อุปกรณ์การเลี้ยงและการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยปกติสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจะมีอุปกรณ์การเลี้ยงและการเก็บเกี่ยวหลายชนิดที่สัมผัสกับสัตว์น้ำ และมีแนวโน้มในการสัมผัสเชื้อและแพร่เชื้อโรคได้ เช่น เครื่องฉีดวัคซีนอัตโนมัติ และปั๊มดูดปลา จากที่ได้อธิบายในเรื่องอุปกรณ์และการทำความสะอาดควรตรวจสอบอุปกรณ์ที่ใช้ เพื่อให้ทราบว่าส่วนไหนของอุปกรณ์ที่เป็นความเสี่ยง มีการสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์น้ำ และเป็นที่สะสมของสิ่งสกปรก หากทได้ควรถอดอุปกรณ์เพื่อให้สามารถทำความสะอาดและใช้น้ำยาฆ่าเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ จบแล้วนะคะสำหรับซีรีย์ข้อควรคำนึงถึงในการฆ่าเชื้อสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ฟาร์ม และอุปกรณ์ค่ะ สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม) |