การฆ่าเชื้อโรคอุปกรณ์ส่วนตัว และน้ำ
บทความรอบก่อนหน้านี้ เราได้อ่านกันไปยาวๆ กับเรื่องเกี่ยวกับข้อควรคำนึงถึงในการฆ่าเชื้อสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ฟาร์ม และอุปกรณ์ แต่สำหรับเรื่องอุปกรณ์ส่วนตัว หรือ personal equipment และการฆ่าเชื้อในน้ำ เรายังไม่ได้เล่าสู่กันเลยนะคะ ว่าองค์การสุขภาพสัตว์โลก หรือ OIE จะมีข้อแนะนำสำหรับวิธีการฆ่าเชื้อโรคยังไง - การฆ่าเชื้ออุปกรณ์ส่วนตัว การฆ่าเชื้ออุปกรณ์ส่วนตัว เราควรพิจารณาถึงโอกาสและระดับของการปนเปื้อนที่เกิดขึ้นในการใช้อุปกรณ์ส่วนตัวนี้ในการทำงานครั้งล่าสุด วิธีที่ดีที่สุดในการทำงานหากสามารถทำได้ คือจัดให้มีอุปกรณ์ส่วนตัว แยกเอาไว้ใช้เฉพาะสำหรับแต่ละสถานที่ เพื่อจะได้ลดความถี่ในการฆ่าเชื้อโรคสำหรับอุปกรณ์ส่วนตัวลง รวมทั้งหลีกเลี่ยงและลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อก่อโรคไปยังสถานที่อื่นๆ ของฟาร์มหรือสถานประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ควรเลือกใช้อุปกรณ์ที่ดูดซับสิ่งสกปรกยาก และทำความสะอาดง่าย ผู้ปฏิบัติงานหรือบุคคลทุกคนที่เข้าไปในพื้นที่การผลิตควรใส่ชุดสะอาด ควรทำความสะอาดและฆ่าเชื้อรองเท้าทุกครั้งเมื่อเข้าและออกจากพื้นที่ผลิตอ่างแช่หรือจุ่มรองเท้าก็ควรมีการทำความสะอาดเพื่อกำจัดการสะสมของสิ่งสกปรกด้วย และเปลี่ยนน้ำยาฆ่าเชื้ออย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าน้ำยาฆ่าเชื้อยังมีความเข้มข้นและมีประสิทธิภาพดีในการฆ่าเชื้อ อุปกรณ์ส่วนตัวบางประเภท เช่น ชุดที่ใช้ใส่ลงไปในบ่อเลี้ยงยิ่งต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากจะต้องนำไปใช้ในหลายๆ สถานที่หากไม่ได้แยกไว้เฉพาะ ทำให้ต้องฆ่าเชื้อบ่อยๆ ซึ่งการล้างและทำความสะอาดฆ่าเชื้ออุปกรณ์บ่อยๆ จะช่วยลดการสะสมของสิ่งสกปรกและทำให้การฆ่าเชื้อโรคมีประสิทธิภาพมากขึ้น - การฆ่าเชื้อโรคในน้ำ ฟาร์มหรือสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจำเป็นต้องฆ่าเชื้อน้ำที่นำเข้ามาใช้ในฟาร์มและน้ำทิ้งเพื่อกำจัดเชื้อก่อโรค โดยวิธีการฆ่าเชื้อที่เหมาะสมที่สุดจะมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการฆ่าเชื้อและลักษณะของน้ำที่จะฆ่าเชื้อ ก่อนการใช้สารฆ่าเชื้อเพื่อฆ่าเชื้อโรคในน้ำจะต้องย้ายหรือนำสัตว์น้ำออกรวมทั้งกำจัดตะกอน และสารแขวนลอยออก เนื่องจากเชื้อโรคมักเกาะอยู่กับตะกอนและสารแขวนลอย ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพการทำลายเชื้อลดลง การกำจัดตะกอนและสารแขวนลอยทำได้โดยการกรอง หรือทำให้สารแขวนลอยนั้นตกตะกอน คุณภาพน้ำ ปริมาณน้ำ ต้นทุนการดำเนินงาน ทั้งหมดที่กล่าวมมาเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดระบบการกรองที่เหมาะสมสำหรับฟาร์มหรือสถานประกอบการนั้นๆ การฆ่าเชื้อทางกายภาพ เช่น การฉายรังสี UV และการใช้สารเคมี เช่น โอโซน คลอรีน และคลอรีนไดออกไซด์มักใช้เพื่อฆ่าเชื้อในน้ำ โดยต้องกำจัดสิ่งสกปรกและตะกอนแขวนลอยออกก่อนที่จะใช้สารฆ่าเชื้อ เนื่องจากสารอินทรีย์ สิ่งสกปรกและตะกอนแขวนลอยอาจยับยั้งกระบวนการฆ่าเชื้อโรคได้ เช่น สารแขวนลอยจะยับยั้งการส่งผ่านรังสี UV ซึ่งจะลดประสิทธิภาพของการฉายรังสี UV การใช้วิธีฆ่าเชื้อหลายๆ แบบร่วมกัน อาจเป็นประโยชน์ในกรณีที่มีการทำงานร่วมกันหรือในกรณีที่ต้องมีการฆ่าเชื้อซ้ำๆ หลายครั้ง การฆ่าเชื้อโรคในน้ำจำเป็นต้องตรวจสอบประสิทธิภาพของการฆ่าเชื้อโรคด้วย โดยอาจตรวจสอบระดับสารฆ่าเชื้อที่ตกค้างหรือ ตรวจหาเชื้อก่อโรค หรือเชื้อที่มีความเกี่ยวข้องกับเชื้อก่อโรค นอกจากนี้ การจัดการสารเคมีตกค้างเป็นเรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสที่จะเกิดความเป็นพิษต่อสัตว์น้ำ ทั้งหมดที่สรุปให้อ่านในครั้งนี้ก็เป็นวิธีการฆ่าเชื้อโรคสำหรบอุปกรณ์ส่วนตัว และน้ำ ซึ่งองค์การสุขภาพสัตว์โลกได้ให้คำแนะนำไว้นะคะ รอบหน้าจะมาอ่านเรื่องอะไรต่อ ลองติดตามกันค่ะ สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม) |