ปลานิลและซินไบโอติก
สวัสดีท่านผู้อ่านชาวฟาร์มทุกท่านค่ะ พบกันอีกครั้งกับเรื่องเล่าชาวฟาร์มนะคะ จากฉบับที่แล้วได้คุยกันไปถึงเรื่องการนำซินไบโอติกมาใช้เสริมผสมอาหารกันแล้ว ว่านอกเหนือจากการใช้เพื่อการกระตุ้นการเจริญเติบโตของกุ้ง แล้วนั้น ในสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ก็มีการนำซินไบโอติกไปใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพการเจริญเติบโตด้วยเช่นกัน ซึ่งก็ได้แก่ปลา Rainbow trout นั่นเอง ซึ่งซินไบโอติกก็ถือว่ามีประสิทธิภาพดีทีเดียวเลยนะคะ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการเจริญเติบโตของปลาเทราต์ได้เป็นอย่างดี ในฉบับนี้เราจะมาชวนคุยถึงปลาอีกชนิดที่เป็นที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดีสำหรับชาวเรานั่นก็คือ “ปลานิล” กันค่ะ โดยส่วนใหญ่เราจะคุ้นเคยกับการใช้แบคทีเรียมีประโยชน์ ซึ่งเป็นแบคทีเรียแกรมบวกชนิดต่างๆ เช่น แบคทีเรียจำพวกบาซิลัส (Bacillus spp.) แลคโตบาซิลัส (Lactobacillus spp.) หรือแบคทีเรียกลุ่มไบฟิโด (Bifidobacterium groups) ในการนำมาใช้เป็นโปรไบโอติกกันมาบ้างแล้วใช่มั้ยคะ แต่ท่านผู้อ่านทราบมั้ยคะว่าเชื้อราบางชนิดก็สามารถนำมาใช้เพื่อประโยชน์ในการเป็นโปรไบโอติกได้เช่นกัน และอาจให้ผลดีไม่ต่างจากแบคทีเรียเลยค่ะ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมานี้ ค่อนข้างน่าสนใจทีเดียวค่ะ เป็นงานวิจัยที่นำเอาเชื้อราแอสเพอร์จิลลัส ออไรชี (Aspergillus oryzae) มาใช้เป็นโปรไบโอติกร่วมกับนำเอาเบต้ากลูแคน (β-Glucan) มาใช้เป็นพรีไบโอติก เพื่อหวังผลให้เกิดประโยชน์ในเชิงซินไบโอติก ในการกระตุ้นให้ปลานิลมีการเจริญเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ ทนทานต่อการเกิดโรคนั่นเองค่ะ โดยเชื้อราแอสเพอร์จิลลัส ออไรชีนั้น มีรายงานพบว่ามีคุณสมบัติในการกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในไก่ สุกรและปลา ทำให้สัตว์มีสุขภาพดีทนทานต่อโรค และในส่วนของเบต้ากลูแคนนั้น มีส่วนช่วยในการต่อต้านอนุมูลอิสระและยังช่วยกระตุ้นเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันให้มีการทำงานที่ดีขึ้นอีกด้วย จากข้อมูลที่น่าสนใจดังกล่าว Dawood และคณะในปี 2019 จึงได้ทำการทดลองเลี้ยงปลานิลด้วยอาหารที่ผสมซินไบโอติก (แอสเพอร์จิลลัส ออไรชี+เบต้ากลูแคน) มาใช้ผสมอาหารเลี้ยงปลานิลเป็นเวลา 60 วัน จากนั้นจึงทำการเปรียบเทียบการเจริญเติบโตของปลากับกลุ่มควบคุมที่ทำการเลี้ยงด้วยอาหารปลาตามปกติ ผลการทดลองพบว่าปลานิลที่เลี้ยงด้วยซินไบติกมีการเจริญเติบโตที่ดีกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญในหลากหลายพารามิเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการเจริญเติบโตที่พบว่าปลานิลมีน้ำหนักสุดท้าย, น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น, การเจริญเติบโตจำเพาะต่อวัน, ค่าการเปลี่ยนอาหารเป็นน้ำหนักตัว และอัตราส่วนประสิทธิภาพของโปรตีนที่กินเข้าไปต่อการเพิ่มของน้ำหนักตัวที่ดีกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ค่าเลือดต่างๆ เช่น เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว ฮีโมโกบิล และค่าโปรตีนในเลือดก็มีปริมาณที่ดีกว่ากลุ่มที่ให้อาหารปกติ รวมไปถึงการย่อยอาหารของปลาในกลุ่มซินไบโอติกก็มีประสิทธิภาพมากกว่า วัดจากปริมาณเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการย่อยที่พบในปลากลุ่มซินไบโอติกมากกว่าปลากลุ่มควบคุม รวมไปถึงการดูดซึมอาหารของลำไส้ปลาก็ดีกว่าด้วย โดยวัดได้จากพื้นที่ในการดูดซึมอาหารในลำไส้ (villi) ของปลากลุ่มซินไบโอติกที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้นซินไบโอติกยังส่งเสริมให้ปลามีสารต้านอนุมูลอิสระที่เพิ่มขึ้นและยังกระตุ้มภูมิคุ้มกันรวมถึงกระตุ้นการทำงานของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย โดยผลการทดลองพบว่าเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมดังกล่าวนั้นมีปริมาณสูงขึ้นในปลากลุ่มที่เลี้ยงด้วยซินไบโอติก โดยรวมแล้วจากการทดลองให้ผลค่อนข้างชัดเจนว่าเชื้อราแอสเพอร์จิลลัส ออไรชี+เบต้ากลูแคน สามารถนำมาใช้เป็นซินไบโอติกในการผสมอาหารเลี้ยงปลานิลได้ และให้ผลกระตุ้นการเจริญเติบโตของปลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่น่าสนใจนำไปประยุกต์ใช้การทำฟาร์มปลานิลในบ้านเราเป็นอย่างมากทีเดียวนะคะ ซึ่งผู้วิจัยใช้เชื้อราและเบต้ากลูแคนในอันตราส่วน 0.5 กรัมเท่าๆ กัน นำไปผสมในอาหารเลี้ยงปลาปริมาณ 1 กิโลกรัมค่ะ เรื่องเกี่ยวกับงานทดลองวิจัยด้านนี้ยังมีอีกมากค่ะ และก็หวังว่าในบทความฉบับนี้ท่านผู้อ่านจะได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะคะ แล้วพบกันฉบับหน้า สวัสดีค่ะ สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม) |