
การให้ probiotic ชนิด Bacillus cereus และ Bacillus subtilis ผสมอาหารปลานิล ที่มีผลต่ออัตราการเจริญเติบโต สุขภาพของลำไส้ และความต้านทานต่อการติดเชื้อ Streptococcus agalactiae เรื่อง : การให้ probiotic ชนิด Bacillus cereus และ Bacillus subtilis ผสมอาหารปลานิล ที่มีผลต่ออัตราการเจริญเติบโต สุขภาพของลำไส้ และความต้านทานต่อการติดเชื้อ Streptococcus agalactiae คราวก่อนเขียนเรื่อง probiotic ไปค่อนข้างยาว ก็ยังรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่เล่าได้อีกเรื่อยๆ เพราะมีนักวิจัยสนใจมากจริงๆ มีการทดลองใหม่ๆ ออกมาให้อ่านตลอดอย่างต่อเนื่อง ช่วงนี้เลยอยากขอเขียนเรื่อง probiotic มาให้อ่านกันเพลินต่อนะคะ รอบนี้เป็นงานของแถบเอเชียเราบ้าง คือกลุ่มนักวิจัยชาวจีนนี่เอง เขาทำอะไรกันจะเขียนให้อ่านค่ะ เป็นงานศึกษาการให้ probiotic ผสมอาหารปลานิล ที่มีผลต่ออัตราการเจริญเติบโต สุขภาพของลำไส้ และความต้านทานต่อการติดเชื้อ Streptococcus agalactiae หรือโรคสเตรปโตคอคโคซิส (Streptococcosis) โรคนี้มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก ชื่อ สเตรปโตคอคคัส (Streptococcus spp.) ปลานิลที่ติดเชื้อชนิดนี้มักป่วยและตายอย่างเฉียบพลัน เชื้อสเตรปโตคอคคัสชนิดที่มีรายงานการก่อโรคในปลานิลเพาะเลี้ยงประเทศไทย ได้แก่ Streptococcus agalactiae และ Streptococcus iniae โดยเชื้อ Streptococcus agalactiae เป็นเชื้อก่อโรคหลักและพบได้ในปลาป่วยด้วยโรคนี้จากทุกภูมิภาคของประเทศไทยที่มีการเลี้ยงปลานิล อาการที่พบในปลานิลที่ป่วย หรือติดเชื้อจะพบได้คล้ายคลึงกับการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่นเช่นกัน คือ ปลาเบื่ออาหาร ว่ายน้ำผิดปกติ เสียการทรงตัว หมุนควงสว่าน เมื่อสังเกตลักษณะที่ตัวปลา จะพบว่าท้องบวมออกมาก ตาโปนข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ อาจพบมีตาขุ่นหรือเลือดออกภายในตา บางครั้งพบจุดเลือดที่ผิวหนัง แผ่นปิดเหงือก โคนครีบ รอบรูทวาร ปาก การรักษาปลาป่วยด้วยการให้ยาต้านจุลชีพเป็นวิธีที่อาจช่วยลดความรุนแรงของโรคได้แต่การใช้ยาต้านจุลชีพเพื่อควบคุมโรคติดเชื้อแบคทีเรียในฟาร์มปลานิลมีข้อจำกัดหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องของยาตกค้างในผลิตภัณฑ์และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งก่อให้เกิดเชื้อแบคทีเรียดื้อต่อยาได้ ปัจจุบันเลยมีนักวิจัยศึกษาทางเลือกอื่นเพิ่มเติมเพื่อป้องกันโรค หนึ่งในนั้นคือการนำ probiotic มาใช้เพื่อส่งเสริมให้ปลามีสุขภาพแข็งแรงและการเจริญเติบโตดี สำหรับการศึกษานี้จะแบ่งกลุ่มลูกปลานิล (น้ำหนักตัว 0.20 ± 0.05 g) ให้กินอาหารแตกต่างกันไป ติดต่อกันเป็นเวลา 6 สัปดาห์ โดยประกอบด้วย - กลุ่มควบคุมที่ให้อาหารธรรมดา - กลุ่มทดลองให้อาหารผสมเชื้อ probiotic ชนิด Bacillus cereus (ปริมาณประมาณ 1 × 108 CFU/g อาหาร) - กลุ่มทดลองให้อาหารผสมเชื้อ probiotic ชนิด Bacillus subtilis (ปริมาณประมาณ 1 × 108 CFU/g อาหาร) และกลุ่มทดลองให้อาหารผสมเชื้อ probiotic ทั้ง 2 ตัว Bacillus cereus + Bacillus subtilis (ปริมาณเชื้อละ 0.5 × 108 CFU/g อาหาร) โดยหลังจากให้อาหารทดลองไปแล้ว 6 สัปดาห์ ตามด้วยอาหารธรรมดากับปลาทุกกลุ่มอีก 1 สัปดาห์ พบว่า กลุ่มทดลองให้อาหารผสมเชื้อ probiotic ทั้ง 2 ตัว (Bacillus cereus + Bacillus subtilis) และกลุ่มทดลองที่ให้อาหารผสมเชื้อ probiotic ชนิด Bacillus cereus มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ประสิทธิภาพการแลกอาหารเป็นเนื้อดีกว่ากลุ่มอื่น และมีความต้านทานต่อเชื้อ Streptococcus agalactiae นอกจากนี้ เมื่อตรวจสอบสภาพในลำไส้พบว่า Gut microvilli มีความยาวเพิ่มขึ้น และพบความเข้มข้นของการแสดงออกของพันธุกรรมการที่มีผลต่อการผลิตเอนไซม์ไลโซไซม์ (C-type lysozyme (lyzc) gene expression) ที่มีส่วนช่วยในการย่อยอาหารเพิ่มมากขึ้น ผู้วิจัยจึงสรุปเอาไว้ว่าในอาหารเสริม Bacillus cereus และอาหารผสมเชื้อ probiotic ทั้ง 2 ตัว (Bacillus cereus + Bacillus subtilis) สามารถส่งเสริมการเจริญเติบโต และเพิ่มความต้านทานโรคได้ โดยมีผลต่อลักษณะของลำไส้ และจุลินทรีย์ในลำไส้ปลานิลนั่นเอง การศึกษาการนำ probiotic มาใช้ในการเพาะเลี้ยงปลานิล จะช่วยให้สุขภาพปลาแข็งแรงขึ้น และมีแนวโน้มความเสี่ยงในการติดเชื้อลดลง ซึ่งมีผลทำให้ลดการใช้ยาต้านจุลชีพในฟาร์มโดยไม่จำเป็นนะคะ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคต่อไปค่ะ สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม) |