ข้อกำหนดเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ในสัตว์น้ำ: การขนส่ง (1)
ชื่อบทความ ข้อกำหนดเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ในสัตว์น้ำ: การขนส่ง (1) คำสำคัญ สวัสดิภาพสัตว์น้ำ
บทความก่อนทิ้งท้ายไปว่าเรื่องสวัสดิภาพสัตว์มีอะไรน่าสนใจที่เกี่ยวกับงานสัตว์บกและสัตว์น้ำกันบ้าง วันนี้ขอเริ่มที่สัตว์น้ำก่อนเลยนะคะ อย่างที่บอกว่าหลายประเทศให้ความสนใจทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและสวัสดิภาพสัตว์ แต่ละประเทศก็ออกข้อกำหนด กฎระเบียบของตัวเองขึ้นมา เพื่อจะให้ประเทศที่อยากขายของ ส่งออกสินค้าทำตาม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นองค์กรระหว่างประเทศเอง ซึ่งก็คือองค์การสุขภาพสัตว์โลกก็ได้ออกข้อกำหนดกว้างๆ เอาไว้ให้คำนึงถึงและใช้อ้างอิงขึ้นมาในเรื่องที่เกี่ยวกับการทำงานด้านสัตว์น้ำเช่นกัน มาดูกันค่ะว่าตอนนี้ องค์การสุขภาพสัตว์โลกมีข้อกำหนดอะไรบ้างที่เกี่ยวกับเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ในสัตว์น้ำ 1. สวัสดิภาพของปลาในฟาร์มระหว่างการขนส่ง (Welfare of farmed fish during transport) 2. การุณยฆาตหรือเมตตาฆาตปลาเพื่อการบริโภคของมนุษย์ (Welfare aspects of stunning and killing of farmed fish for human consumption) 3. การทำลายปลาในฟาร์มเพื่อวัตถุประสงค์ในการควบคุมโรค (Killing of farmed fish for disease control purposes) จะเห็นว่าหัวเรื่องของข้อกำหนดก็เป็นเรื่องที่เราชาวฟาร์มต้องทำกันอยู่แล้วนะคะ มาดูกันว่าเราได้มีการปฏิบัติที่สอดคล้องกับข้อกำหนดที่องค์การสุขภาพสัตว์โลกได้กำหนดไว้กว้างๆ รึเปล่า จะค่อยๆ เล่าให้ฟังค่ะ เริ่มที่เรื่อง “สวัสดิภาพของปลาในฟาร์มระหว่างการขนส่ง” ก่อนเลย หัวข้อนี้จะอธิบายถึงความรับผิดชอบของคนที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง ความสามารถ การวางแผนการขนส่ง การขนส่ง นำปลาขึ้น ลง ยานพาหนะ และการจัดการหลังการขนส่ง แต่ละหัวข้อมีรายละเอียดสรุปว่ายังไงบ้างมาดูกันค่ะ สำหรับความรับผิดชอบของคนที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งบุคลากรทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปลาตลอดการขนส่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจสอบ และพิจารณาว่ากิจกรรมอะไรที่มีผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสวัสดิภาพของปลา แล้วจะมีใครที่เกี่ยวข้องบ้าง 1. หน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลในการขนส่ง - ต้องกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับสวัสดิภาพปลาในระหว่างการขนส่ง - กำหนดให้มีการตรวจสอบก่อน ระหว่าง และหลังการขนส่ง - มีการออกใบรับรองที่เหมาะสม - กำหนดให้มีการเก็บบันทึก - จัดให้มีการฝึกอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง ทั้งนี้ หน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลในการขนส่งต้องมีวิธีการที่จะมั่นใจได้ว่ามีการทำตามที่กำหนดมาตรฐานไว้ เช่น รับรองการปฏิบัติที่เหมาะสมในการขนส่งของฟาร์ม หรือบริษัทขนส่ง 2. เจ้าของฟาร์ม ผู้จัดการ มีหน้าที่รับผิดชอบตั้งแต่เริ่มต้นขนส่งจนสิ้นสุดการเดินทาง - มีการดูแลสุขภาพปลาและความแข็งแรงของปลา ความพร้อมในการขนส่งในช่วงเริ่มต้นของการเดินทาง และเพื่อให้แน่ใจถึงสวัสดิภาพโดยรวมของปลาในระหว่างการขนส่ง - จัดให้บุคลากรที่เกี่ยวกับการขนส่งได้รับการฝึกอบรม เพื่อให้มีความสามารถควบคุมดูแลการปฏิบัติงาน ณ สถานที่ขนถ่ายปลา โดยไม่ให้ปลาเกิดการบาดเจ็บและทำให้ปลาเกิดความเครียดน้อยที่สุด - กำหนดให้มีแผนฉุกเฉินกรณีที่ต้องทำลายปลาหากจำเป็น ต้องทำอย่างมีมนุษยธรรม - ตรวจสอบให้แน่ใจว่าปลาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เมื่อไปถึงสถานที่เลี้ยงปลาปลายทาง เพื่อให้แน่ใจว่าปลาจะอยู่ในสภาพที่มีสวัสดิภาพดี 3. ผู้ขนส่งร่วมกับเจ้าของ / ผู้จัดการฟาร์ม มีหน้าที่วางแผนการขนส่งเพื่อให้แน่ใจว่าการขนส่งมีตามมาตรฐานทั้งด้านสุขภาพและสวัสดิภาพของปลา - ใช้ยานพาหนะที่เหมาะสมกับชนิดปลาที่ขนส่ง ยานพาหนะได้รับการดูแลอย่างดี - ต้องได้รับการอบรมและมีความสามารถในสำหรับการขนส่ง และขนถ่าย และหากมีเหตุฉุกเฉินจำเป็นที่จะต้องทำลายปลา ก็ต้องดำเนินการทำลายอย่างมีมนุษยธรรม - มีแผนฉุกเฉินเพื่อรับมือกับเหตุฉุกเฉิน มีการลดความเครียดของปลาระหว่างการขนส่ง - ต้องเลือกใช้อุปกรณ์และยานพาหนะที่เหมาะสมสำหรับการขนส่ง และขนถ่าย 4. ผู้รับผิดชอบดูแลการขนส่ง - มีหน้าที่รับผิดชอบเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งและปฏิบัติตามคำแนะนำที่เกี่ยวกับสวัสดิภาพปลาในระหว่างการขนส่ง ในเรื่องของสวัสดิภาพในการขนส่งปลายังมีรายละเอียดในหัวข้ออื่นๆ อีก ไว้มาอ่านต่อกันในบทความหน้าค่ะ สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม) |