ข้อกำหนดเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ในสัตว์น้ำ: การวางแผนการขนส่ง (2)
ชื่อบทความ ข้อกำหนดเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ในสัตว์น้ำ: การวางแผนการขนส่ง (2) คำสำคัญ สวัสดิภาพสัตว์น้ำ เรื่องการวางแผนการขนส่งที่ต้องคำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์น้ำ เป็นเรื่องสำคัญที่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายปลาควรให้ความสำคัญนะคะ เนื่องจากการขนส่งที่ดี มีสวสดิภาพจะทำให้ปลาไม่บอบช้ำ ไม่เครียด ซึ่งความเครียด และความบอบช้ำในการขนส่งมีผลต่อสุขภาพของปลาได้ และจะโน้มนำให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา และทำให้เกิดความสูญเสียในการเลี้ยงปลาได้ต่อไปค่ะ ครั้งที่ผ่านมาอ่านกันไปแล้วในหัวข้อเรื่องทั่วไปที่เราควรคำนึงถึงในการขนส่ง และการออกแบบ และบำรุงรักษายานพาหนะ รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดการขนส่ง วันนี้มาดูกันในส่วนของเรื่องการจัดการน้ำ การเตรียมปลาเพื่อการขนส่ง คำแนะนำเฉพาะสายพันธุ์ และเรื่องของแผนการฉุกเฉินค่ะ การจัดการน้ำ - ต้องมีการจัดการคุณภาพน้ำที่เหมาะสมกับชนิดของปลาที่ขนส่ง และวิธีการขนส่ง เช่น ระดับความเข้มข้นของออกซิเจน ระดับ CO2 แอมโมเนีย ความเป็นกรดด่าง อุณหภูมิและความเค็มของน้ำที่ใช้ในการขนส่ง - ในบางครั้งถ้าขนส่งไปที่ไกล และใช้ระยะเวลานาน อาจต้องมีอุปกรณ์สำหรับนำมาใช้ในการตรวจสอบและรักษาคุณภาพน้ำให้มีความเหมาะสมตลอดระยะเวลาการขนส่งด้วย ในส่วนของการเตรียมปลาเพื่อการขนส่งนั้น - ควรงดอาหารปลาก่อนการขนส่ง โดยคำนึงถึงชนิด พันธุ์ปลา และระยะเวลาที่จะขนส่ง - พิจารณาสถานะสุขภาพปลา ร่วมกับการจัดการก่อนขนส่ง และประวัติการขนส่งล่าสุด แล้วนำมาประเมินร่วมกับสภาพการขนส่ง ว่าจะสามารถขนส่งปลาได้อย่างไร ที่ทำให้เกิดความเครียดน้อยที่สุด - ขนส่งเฉพาะปลาที่ผ่านการประเมินสภาวะสุขภาพแล้วว่าจะสามารถขนส่งได้โดยปลอดภัยและมีสัสดิภาพดีเท่านั้น บอกแบบนี้แล้วอาจสับสนว่าจะพิจารณายังไงว่าปลาสภาพดี ในเบื้องต้นก็จะดูกันที่ว่าปลาต้องไม่มีอาการผิดปกติ หรือมีอาการป่วย ไม่พบการบาดเจ็บทางร่างกายที่สำคัญ หรือพฤติกรรมที่ผิดปกติ เช่น เปิดปิดแผ่นผิดเหงือกถี่เกินไป หรือว่ายน้ำที่ผิดปกติ การอดอาหารไม่เพียงพอ หรืออดอาหารนานเกินไป ปลาได้รับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่ส่งผลเสียต่อพฤติกรรมหรือสภาวะทางสรีรวิทยาอย่างรวดเร็ว ในช่วงก่อนการขนส่ง เช่น อุณหภูมิที่สูงเกินไป เปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป ได้รับสารเคมี นอกจากนี้องค์การสุขภาพสัตว์โลกยังได้ชี้ให้คำนึงถึงเรื่องเกี่ยวกับข้อมูลเฉพาะของสายพันธุ์ที่อาจมีผลกับสวัสดิภาพในการขนส่งด้วย ทั้งนี้ ในขั้นตอนการขนส่งควรคำนึงถึงความแตกต่าง และความผันแปรของพฤติกรรมในปลาแต่ละสายพันธุ์ และความต้องการเฉพาะของสายพันธุ์ปลาที่ขนส่ง ขั้นตอนการจัดการที่เคยใช้ได้ผลดีในปลาชนิดหนึ่ง อาจไม่เหมาะสมหรือเป็นอันตรายต่อปลาอีกชนิดหนึ่งได้ สิ่งสุดท้ายของการวางแผนการขนส่ง คือ แผนการฉุกเฉิน ควรมีแผนฉุกเฉินที่ระบุเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ของปลาที่สำคัญ ซึ่งสามารถพบได้ในระหว่างการขนส่ง จะต้องมีการระบุขั้นตอนในการจัดการ สำหรับแต่ละเหตุการณ์ที่คาดการณ์ไว้ และเมื่อเกิดเหตุขึ้นก็สามารถดำเนินการจัดการตามที่เคยระบุขั้นตอนไว้สำหรับแนวทางดังกล่าวได้ โดยในแต่ละเหตุการณ์ของแผนฉุกเฉิน ควรระบุการดำเนินการที่ต้องทำและความรับผิดชอบของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แนวทางการประสานงาน และการเก็บบันทึก เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการทำงานกรณีต้องดำเนินการตามแผนฉุกเฉินค่ะ จบเรื่องวางแผนการขนส่งไว้เพียงเท่านี้ แต่รอบหน้าคือสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับการขนส่ง และเรื่องที่ควรทำหลังขนส่งค่ะ อย่าลืมมาตามอ่านกันต่อนะคะ สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม) |