ข้อกำหนดเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ในสัตว์น้ำ: การขนส่งและเรื่องที่ควรทำหลังขนส่ง
ชื่อบทความ ข้อกำหนดเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ในสัตว์น้ำ: การขนส่งและเรื่องที่ควรทำหลังขนส่ง คำสำคัญ สวัสดิภาพสัตว์น้ำ ถึงตอนจบสำหรับบทความซีรีย์ข้อกำหนดเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ในสัตว์น้ำแล้ว วันนี้เรามาดูรายละเอียดกันในส่วนของเอกสารที่ใช้ประกอบการขนส่ง (Documentation) ว่าควรมีเอกสารข้อมูลอะไรบ้าง ซึ่งถ้ายังจัดเตรียมเอกสารที่ใช้ประกอบการขนส่งไม่ครบถ้วนก็ยังไม่ควรจะย้ายปลาไปไว้ในภาชนะบรรจุหรือยานพาหนะขนส่งนะคะ นอกเหนือจากเอกสารการขนส่งที่ส่วนราชการกำหนดไว้ว่าจะต้องมีแล้ว ควรมีเอกสารที่เกี่ยวข้องได้แก่ - บันทึกการขนส่งที่มีข้อมูลของปลาที่ขาย เช่น วันที่ เวลา และสถานที่ขนถ่าย ชนิด ปริมาณปลา - รายละเอียดของแผนการขนส่ง เช่น เส้นทาง การเปลี่ยนถ่ายน้ำระหว่างทาง (ถ้ามี) เวลาที่คาดว่าจะถึงจุดหมาย วันที่ และสถานที่ไปส่ง บันทึกเวลาที่ถึงจุดหมายปลายทาง และข้อมูลสำหรับติดต่อผู้รับของปลายทาง โดยควรจัดเตรียมบันทึกการขนส่งนี้ ให้กับผู้ส่งและผู้รับของ และเก็บรักษาไว้ในระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อประโยชน์ในการทวนสอบ หรือปรับปรุงวิธีการขนส่งต่อไป
การย้ายปลาลงภาชนะบรรจุ ยานพาหนะควรดำเนินการด้วยความระมัดระวังไม่ให้ปลาบอบช้ำ หลีกเลี่ยงการบาดเจ็บ และความเครียดที่จะเกิดขึ้นในปลา โดยควรมีการต้อนปลามารวมกัน ล้อมตาข่าย หรือกระชังก่อนที่จะย้ายไปในภาชนะบรรจุ ยานพาหนะ อุปกรณ์ที่ใช้จะต้องเหมาะสมกับชนิดและขนาดของปลา เช่น อวน ปั๊ม ท่อและข้อต่อ ไม่มีส่วนแหลมคม หรือส่วนโค้งที่มากเกินไปซึ่งอาจทำอันตรายต่อปลาได้ โดยพิจารณาถึงเรื่องความหนาแน่นของปลาด้วย ไม่ให้มีความหนาแน่นมากเกินไป ต้องมีการรักษาคุณภาพน้ำ ถ้าจะต้องย้ายปลาไปในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันมีการควรปรับสภาพให้ชินกับสภาพแวดล้อมใหม่ ในการการขนถ่าย ย้ายปลาควรอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับพฤติกรรมและลักษณะอื่น ๆ ของพันธุ์ปลาเพื่อให้แน่ใจว่ามีการรักษาสวัสดิภาพของปลา
สำหรับการขนส่งปลามีเรื่องที่ควรคำนึงถึงดังนี้ - ระหว่างการขนส่งควรมีการตรวจสอบสถานการณ์ และสวัสดิภาพสัตว์เป็นระยะ - มีการตรวจสอบคุณภาพน้ำเป็นระยะเช่นกัน และต้องมีการปรับปรุงคุณภาพน้ำตามความจำเป็น เพื่อไม่ให้เกิดความเครียด - พยายามทำให้เกิดความเคลื่อนไหวน้อยที่สุด เพื่อลดความเครียดและการบาดเจ็บ ในกรณีที่มีปลาป่วยหรือบาดเจ็บ ต้องปฏิบัติตามแผนฉุกเฉินที่กำหนดไว้ หากพิจารณาแล้วว่าจำเป็นจะต้องทำลายปลา จะต้องดำเนินการอย่างมีมนุษยธรรม
การขนถ่ายปลา ณ ปลายทาง ใช้หลักการเดียวกับการการย้ายปลาลงภาชนะบรรจุ ยานพาหนะ โดยควรทำด้วยความรวดเร็วที่สุดหลังเมื่อถึงปลายทาง และต้องทำด้วยความระมัดระวังไม่ให้ปลาบอบช้ำและเป็นอันตราย พิจารณาสภาพแวดล้อม ความจำเป็นในการปรับสภาพปลาก่อนปล่อยลงในแหล่งที่เลี้ยงปลา ถ้าพบปลาป่วยหรือบาดเจ็บร้ายแรงควรแยกอออกมารักษาหรือทำลาย (โดยดำเนินการอย่างมีมนุษยธรรม)
เรื่องที่ควรทำหลังขนส่ง ผู้ที่รับผิดชอบในการรับปลาควรสังเกตวิธีการขนส่ง การย้ายปลา จดบันทึกและเก็บบันทึกรายละเอียดที่สำคัญ ถ้าพบปลาแสดงอาการผิดปกติ ป่วยหรือบาดเจ็บร้ายแรง ควรแยกอออกมาตรวจ รักษาหรือทำลายอย่างมีมนุษยธรรม นอกจากนี้ หากพบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง ก็ควรจะนำมาประเมินหาทางแก้ไขป้องกันเพื่อปรับปรุงกระบวนการขนส่งปลาให้มีประสิทธิภาพต่อไป สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม) |