การยึดเกาะของโปรไบโอติก
ชื่อบทความ การยึดเกาะของโปรไบโอติก คำสำคัญ การยึดเกาะ โปรไบโอติก สวัสดีท่านผู้อ่านที่รักทุกท่านค่ะ ฉบับนี้มาพูดคุยกันเรื่องโปรไบโอติกกันอีกเช่นเคย เป็นข้อสังเกตเล็กๆน้อยๆ แต่น่าสนใจ อาจจะเป็นประโยชน์สามารถนำไปปรับปรับใช้ในฟาร์มได้ จึงนำมาฝากกันในวันนี้ค่ะ ว่าด้วยเรื่องการยึดเกาะพื้นที่ของโปรไบโอติก แน่นอนว่าเมื่อมีการใช้โปรไบโอติกในฟาร์ม เราย่อมต้องการให้แบคทีเรียชนิดดีที่เราผสมให้กับปลากินนั้น สามารถเข้าไปแล้วออกฤทธิ์ได้อย่างเต็มที่ ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งคือแบคทีเรียเหล่านี้ต้องมีการยึดพื้นที่ในลำไส้ของปลาให้ได้เสียก่อน จากนั้นจึงจะสามารถเพิ่มจำนวนและหลั่งสารที่เป็นประโยชน์ออกมา รวมถึงทำหน้าที่ต่างๆ ของเค้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งพื้นที่ในลำไส้ปลาก็มีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้นโปรไบโอติกจึงต้องแข่งขันกันแย่งพื้นที่นี้กับแบคทีเรียชนิดอื่นๆ รวมถึงพวกแบคทีเรียตัวร้ายอย่างเช่น Vibrio หรือ Aeromonas ด้วยเช่นกัน ทราบหรือไม่คะว่าการมาก่อนมาหลังของแบคทีเรีย มีผลมากกับการยึดครองพื้นที่ของเจ้าพวกแบคทีเรียพวกนี้ จะว่าไปก็คล้ายๆ กับที่คนเราจับจองพื้นที่ทำกิน ใครมาก่อนมาหลังทำนองนั้นเหมือนกันนะคะ โดยจากผลงานวิจัยของ Vine และคณะ ที่ทำการทดสอบการยึดเกาะพื้นที่ของแบคทีเรียในลำไส้ของปลา พบว่าพวกแบคทีเรียตัวร้าย Vibrio alginolyticus และ Aeromonas hydrophila ดูเหมือนจะชอบการแข่งขัน โดยหากพบว่ามีโปรไบโอติกยึดเกาะอยู่ที่ลำไส้อยู่ก่อน ณ บริเวณใดบริเวณหนึ่ง แบคทีเรียตัวร้ายก็มักจะปรากฏตัวร่วมด้วย เพิ่มจำนวนและมาคอยแย่งพื้นที่กัน แต่อย่างไรก็ตามภาพรวมส่วนใหญ่ในการทดลองของเขา แบคทีเรียชนิดดีมักจะเป็นผู้ชนะและสามารถยึดครองพื้นที่ได้ดีกว่าแบคทีเรียตัวร้าย หากมีการให้แบคทีเรียชนิดดีเหล่านั้นเข้ามาภายหลังจากปล่อยให้แบคทีเรียก่อโรคยึดครองพื้นที่ไปก่อนในช่วงแรก หมายความว่าแบคทีเรียชนิดดีนั้นมีความสามารถเข้าไปแย่งพื้นที่ได้เก่ง ทำให้แบคทีเรียตัวร้ายต้องถอยออกมา นอกจากนั้นยังมีแบคทีเรียชนิดดีสายพันธุ์ AP5 (โปรไบโอติกที่น่าสนใจจากการทดลองนี้ แยกเชื้อมาจากลำไส้ของปลาการ์ตูน) ที่ไม่ว่าจะให้ก่อนหรือหลังแบคทีเรียตัวร้าย เจ้า AP5 ดังกล่าวก็ให้ผลลัพธ์ที่ดีคือสามารถลดการยึดเกาะพื้นที่ในลำไส้ของ V. alginolyticus ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความสามารถในการยึดเกาะและป้องกันไม่ให้แบคทีเรียตัวร้ายมาจับจองพื้นที่ ขณะเดียวกันสามารถเข้าไปแทนที่แบคทีเรียตัวร้ายที่จับจองพื้นที่บนลำไส้อยู่ก่อนแล้วได้ด้วย จากคุณสมบัติการยึดเกาะดังกล่าว ว่าที่โปรไบโอติกแบคทีเรีย AP5 ดังกล่าวจึงมีความน่าสนใจในการนำมาใช้เป็นโปรไบโอติกเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงข้อมูลที่มองเฉพาะในแง่ความสามารถในการยึดเกาะพื้นที่ในลำไส้ของแบคทีเรียเท่านั้น สำหรับการใช้งานจริงเราควรมองถึงคุณสมบัติด้านอื่นๆ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีในภาพรวมด้วย เช่น ความสามารถในการผลิตสารต่อต้านแบคทีเรียตัวร้าย ความสามารถในการผลิต fatty acid เป็นต้น คุณสมบัติในด้านการยึดเกาะลำไส้นั้นเป็นเพียงส่วนสำคัญ ส่วนนึง ที่ทำให้โปรไบโอติกสามารถคงอยู่และทำหน้าที่ต่างๆ ในลำไส้ได้ หวังว่าการทราบข้อมูลว่าการมาก่อนและหลังของโปรไบโอติกและแบคทีเรียก่อโรคนั้นมีผลต่อการแย่งกันยึดเกาะพื้นที่ในลำไส้ปลา น่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านชาวฟาร์มในการนำไปปรับใช้ไม่มากก็น้อยนะคะ สุดท้ายนี้ ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรงปลอดภัย แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าค่ะ สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม) |