ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสุขภาพสัตว์ของ OIE
ชื่อบทความ ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสุขภาพสัตว์ของ OIE คำสำคัญ สุขภาพสัตว์ OIE กลับมาพบกันอีกครั้งสำหรับเนื้อหาวันนี้ ถ้าใครติดตามหมอมาอย่างสม่ำเสมอจะพอทราบว่าหมอมักจะมีเรื่องเล่าเรื่องเขียนเกี่ยวกับการทำงานของ OIE หรือองค์การสุขภาพสัตว์โลกมาอัพเดทให้อ่านกันอยู่บ่อยๆ ซึ่ง OIE คือ องค์กรอะไรนั้นสามารถสืบย้อนอ่านได้ในบทความก่อนหน้าที่เคยเขียนถึงนะคะ วันนี้จะมาเล่าเรื่องอัพเดทของ OIE สักนิดให้ได้รับรู้ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสุขภาพสัตว์ในบริบทงานขององค์กรระดับโลกมากขึ้น เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา OIE ได้จัดประชุมใหญ่ประจำปีในรูปแบบออนไลน์ขึ้น (ปกติจะจัดที่ปารีสที่เป็นที่ตั้งของสำนักงานของ OIE) ปี 2564 นี้ถือเป็นการประชุมใหญ่ครั้งที่ 88 ของ OIE แล้ว และมีคนเข้าร่วมประชุมออนไลน์จาก 165 ประเทศ ทั่วโลก ประกอบด้วยผู้แทนถาวรจากประเทศสมาชิก OIE ผู้แทนจากองค์กรต่างๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ มากกว่า 1,200 คน เข้าประชุมและร่วมฟังแบบออนไลน์ ในปีนี้ OIE ได้รายงานผลการทำงานและกิจกรรมต่างๆ ของ OIE ที่เกิดขึ้นในปี 2562-2563 รายงานสถานการณ์ด้านสุขภาพสัตว์ทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ โรคระบาดสัตว์ที่พบในแต่ละประเทศหรือแต่ละทวีปทั่วโลก (สืบค้นข้อมูลได้จาก website ของ OIE) รายงานรายชื่อห้องปฏิบัติการอ้างอิงของ OIE ด้านโรคในสัตว์ รวมทั้งการขึ้นทะเบียนชุดทดสอบเพื่อชันสูตรโรค (diagnostic kits) ที่ผ่านการตรวจสอบความใช้ได้และการรับรองจาก OIE หนึ่งในเรื่องที่สำคัญในปีนี้ของ OIE คือ การรับรองแผนยุทธศาสตร์ฉบับที่ 7 ของ OIE (OIE 7th Strategic Plan 2021-2025) แผนยุทธศาสตร์ฉบับที่ 7 ของ OIE ประกอบด้วยเป้าหมายยุทธศาสตร์ (Strategic objectives) 5 ด้าน คือ 1. scientific expertise คือ ความเชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์ โดยจะเน้นการทำงานที่ให้คำแนะนำและสนับสนุนด้านการวินิจฉัย ชันสูตรโรคสัตว์ และการส่งเสริมสุขภาพสัตว์ให้แก่ประเทศสมาชิก 2. data governance คือ การกำกับดูแลข้อมูลหรือการธรรมาภิบาลข้อมูล โดย OIE จะมีระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับการรายงานโรคระบาดสัตว์อยู่ และมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลโรคระบาดสัตว์ ที่เรียกว่าระบบ World Animal Health Information System (WAHIS) และ WAHIS-wild เสมอ เพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้แบบทันที (real-time) การจัดทำฐานข้อมูลการติดตามการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์ และต้องยึดมั่นการให้ความคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูลที่ประเทศสมาชิกส่งให้ OIE ด้วย 3. responding to Members’ needs คือ การตอบสนองต่อความต้องการของประเทศสมาชิก โดย OIE จะพัฒนาวิธีการติดตามประเทศสมาชิกว่ามีการนำมาตรฐานของ OIE ไปใช้รึเปล่า มากน้อยแค่ไหน ทำตามได้ หรือไม่ OIE จะสนับสนุนให้มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูลประสิทธิภาพของสัตวแพทย์ที่ให้บริการหรือ Performance of Veterinary Services (PVS) Pathway สนับสนุนการพัฒนาเพื่อถ่ายทอดความรู้ความเชี่ยวชาญภายใต้เครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น OIE Collaborating Center 4. collaboration with partners คือ ความร่วมมือกันกับพันธมิตร เครือข่าย โดยมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายซึ่งก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกัน ส่งเสริมการเข้าร่วมกิจกรรมในเวทีต่างๆ 5. efficiency and agility คือ ความมีประสิทธิภาพและความคล่องตัว โดยจะการปรับปรุงกระบวนการภายในหน่วยงานของ OIE ให้มีประสิทธิภาพและความคล่องตัวมากขึ้นตามหลัก optimize performance และ results-based management นอกเหนือจากการรายงานผลการทำงานที่ผ่านมาและการรับรองยุทธศาสตร์ ฉบับที่ 7 ของ OIE แล้วยังมีหลายหัวข้อที่น่าสนใจ หนึ่งในนั้นคือการนำเสนอหัวข้อทางวิชาการในประเด็นยอดนิยมที่หลายๆ องค์กรจะต้องมีการอภิปรายกัน นั่นก็คือประเด็นที่เกี่ยวกับผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่องานขององค์กรนั้นๆ ทาง OIE ก็ได้จัดการนำเสนอหัวข้อนี้ในแง่มุมที่เกี่ยวกับงานของ OIE เช่นกัน โดยใช้ชื่อว่า Lesson identified from before and during the pandemic: How the OIE can support Veterinary Services to achieve One Health resilience ซึ่งมีเนื้อหาที่เน้นถึงประสบการณ์ที่ได้รับจากการดำเนินกิจกรรมของ OIE ในช่วงที่เกิดการระบาดของ COVID-19 และบทบาทของงานด้านสัตวแพทย์บริการของประเทศสมาชิกในการควบคุมและป้องกันโรคตามแนวทาง One Health หรือสุขภาพหนึ่งเดียว และความสำคัญของความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัยและแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงการบูรณาการกิจกรรมด้านการจัดการสุขภาพสัตว์ป่าเข้าเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ One Health ทั้งหมดทั้งมวลก็เป็นประเด็นสำคัญที่น่าสนใจที่หมอเห็นว่าน่าจะเอามาแบ่งปันกับผู้อ่านนะคะ หากท่านใดสนใจข้อมูลผลการประชุมของ OIE แบบละเอียดก็สามารถไปหาอ่านได้ในหน้าเว็ปไซต์ของ OIE ได้เลยค่ะ วันนี้ขอตัวลากันก่อนแล้วกลับมาพบกันใหม่ค่า สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม) |