กลยุทธ์ในการขับเคลื่อนประชาคมระหว่างประเทศในการพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ และสวัสดิภาพสัตว์น้ำของ OIE
ชื่อบทความ กลยุทธ์ในการขับเคลื่อนประชาคมระหว่างประเทศในการพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ และสวัสดิภาพสัตว์น้ำของ OIE คำสำคัญ สุขภาพสัตว์น้ำ สวัสดิภาพสัตว์น้ำ OIE จากบทความก่อนหน้าพูดถึงเรื่องการประชุมใหญ่ประจำปีของ OIE ครั้งที่ 88 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ในรูปแบบออนไลน์ ในรอบล่าสุดนี้มีอะไรที่น่าสนใจบ้างสำหรับงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสัตว์น้ำ ในการประชุมครั้งนี้ถือได้ว่าทาง OIE เปิดตัวกลยุทธ์ด้านสุขภาพสัตว์น้ำที่ไม่เคยทำมาก่อนเลยนะคะ มีการพูดถึง “กลยุทธ์ในการขับเคลื่อนประชาคมระหว่างประเทศในการพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ และสวัสดิภาพสัตว์น้ำทั่วโลก” โดยได้รับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิกมากกว่า 182 ประเทศ กลยุทธ์นี้มีเป้าหมายที่จะปกป้อง คุ้มครองสุขภาพของชีวิตใต้น้ำ และสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน ทุกคนนี่หมายถึงทั้งสัตว์และมนุษย์เลยนะคะ ส่วนคำว่า “สวัสดิภาพสัตว์” ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสัตว์น้ำ อาจใหม่สำหรับผู้อ่านบางท่าน ซึ่งหมอเองก็ได้เขียนบทความในหัวข้อนี้ไปหลายชิ้นแล้วเหมือนกันสามารถตามย้อนไปอ่านกันได้ค่ะ สืบเนื่องจากบริโภคอาหารทะเล อาหารที่มาจากสัตว์น้ำของมนุษย์มีมากขึ้นกว่าเดิม และปัจจุบันสัตว์น้ำก็จัดเป็นหนึ่งในแหล่งโปรตีนหลักของคนหลายพันล้านคนทั่วโลก และยังมีแนวโน้มว่ายังมีความต้องการบริโภคสัตว์น้ำเพิ่มมากขึ้นไปอีกนะคะ แต่ปัญหาหนึ่งที่ถูกคาดการณ์ว่าจะสามารถเกิดขึ้นได้เหมือนกันก็คือปัญหาโรคระบาดสัตว์ค่ะ โรคระบาดสัตว์มีผลกระทบต่อการผลิตและทำให้การเติบโตในภาคการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหยุดชะงักได้ มีผลต่อการผลิตที่มุ่งเป้าหมายว่าเราจะต้องพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน เพื่อให้มีความมั่นคงทางอาหารเกิดขึ้น การเกิดโรคระบาดใหม่ก็มีแนวโน้มที่พบได้เนื่องจากหลายๆ เหตุผล เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระบวนการปฏิบัติ การผลิตในฟาร์มที่ไม่คำนึงถึงความยั่งยืนของสภาพแวดล้อมรอบฟาร์ม หรือการค้าที่มีการควบคุมกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคข้ามพรมแดน ดังนั้น การจัดการสุขภาพของสัตว์น้ำอย่างระมัดระวังจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก โรคระบาดส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมถึงระบบนิเวศแบบเปิด มีผลกระทบต่อสัตว์อื่นๆ ในธรรมชาติอีก อาจทำให้เกิดการทำลายความสมดุลของระบบนิเวศได้ เช่น การแพร่กระจายของโรคในสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่เรียกว่า โรค chytridiomycosis ที่ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก ทำให้เกิดวิกฤตการของการสูญพันธุ์ของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำบางชนิด ในครั้งนั้นพบว่าเหตุการณ์ระบาดนี้ยังมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยง สัตว์น้ำที่มีมูลค่ามากกว่า 6 พันล้านดอลลาร์ต่อปีอีกด้วย นอกจากนี้ยังคุกคามแหล่งที่มาของงานและรายได้ของคนเกือบ 60 ล้านคนที่ทำงานในภาคการผลิตสัตว์น้ำ เกิดปัญหาเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องไปหมดค่ะ OIE ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายของผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ เลยมีแนวคิดในเรื่องกลยุทธ์ระดับโลกที่จะให้การดูแลเกี่ยวกับสุขภาพสัตว์น้ำ โดยมีการเรียกร้องให้สมาชิกมีการดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อปรับปรุงความยั่งยืนของระบบการผลิตสัตว์น้ำเพื่อสุขภาพสัตว์น้ำและสวัสดิภาพ ในอีกห้าปีข้างหน้า OIE จะรวบรวมภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาชิก OIE ผู้เชี่ยวชาญ องค์กรพันธมิตร ผู้มีอำนาจด้านนโยบาย และภาคเอกชน เข้ามาประสานงานการดำเนินการร่วมกันเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายที่พบในอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์น้ำตามกลยุทธ์ใหม่ของ OIE โดย OIE จะยังคงเป็นผู้นำในการพัฒนามาตรฐาน สร้างขีดความสามารถ ประสานงานเรื่องการป้องกันโรค ตรวจหาโรค และแก้ไขปัญหา จากการทำงานร่วมกัน OIE คาดหวังว่าจะสามารถยกระดับ พัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำและสวัสดิภาพสัตว์น้ำทั่วโลกได้ ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญต่อระบบนิเวศทางน้ำที่ยั่งยืนมากขึ้น นอกจากมาตรฐานของ OIE แล้วหน่วยงานภาคเอกชนบางแห่งก็กำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับการผลิตที่ทำให้เกิดความยั่งยืนด้วยเหมือนกันนะคะ ในหลายครั้งที่ได้ยิน เช่น การผลิตพืชแบบยั่งยืน ข้าวยั่งยืน กุ้งยั่งยืน เป็นต้น การที่ฟาร์มมีการผลิตที่คำนึงถึงความยั่งยืนตามมาตรฐานที่กำหนดก็จะเป็นโอกาสทางด้านการค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ต่อไปค่ะ สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม) |