ความปลอดภัยทางชีวภาพในสถานประกอบการสัตว์น้ำของ OIE
ชื่อบทความ ความปลอดภัยทางชีวภาพในสถานประกอบการสัตว์น้ำของ OIE คำสำคัญ ความปลอดภัยทางชีวภาพในสถานประกอบการสัตว์น้ำของ OIE สวัสดีค่ะ คราวก่อนได้อ่านเรื่องที่ค่อนข้างจะเบาสมองกัน คราวนี้ขอมาต่อยอดเรื่องที่เคยเล่าให้ฟังจากงานประชุมใหญ่ครั้งที่ 88 องค์การสุขภาพสัตว์โลก หรือ OIE ที่จัดไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ตอนนั้นได้สรุปภาพรวมว่าองค์การสุขภาพสัตว์โลกมีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสุขภาพสัตว์ยังไงบ้าง ถ้าพอจะคุ้น กันอยู่บ้าง ก็จะมีเรื่องของรายงานผลการทำงาน และกิจกรรมต่างๆ ของ OIE ที่เกิดขึ้นในปี 2562-2563 รายงานสถานการณ์ด้านสุขภาพสัตว์ทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ โรคระบาดสัตว์ที่พบทั่วโลก รายชื่อห้องปฏิบัติการอ้างอิงของ OIE การขึ้นทะเบียนชุดทดสอบเพื่อชันสูตรโรค (diagnostic kits) ที่และแผนยุทธศาสตร์ฉบับที่ 7 ของ OIE นั่นเอง วันนี้มีอีกเรื่องที่อยากเล่าให้ฟังจากการประชุม ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวชาวฟาร์มมากๆ ก็คือ เรื่องเกี่ยวกับความปลอดภัยทางชีวภาพในสถานประกอบการสัตว์น้ำ โดยองค์การสุขภาพสัตว์โลกได้จัดทำเอกสารมาตรฐานในเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อให้ประเทศสมาชิกนำไปใช้เป็นแนวทางสำหรับการทำงาน หมอลองรีวิวเอกสารดูคร่าวๆ แล้ว เอกสารมีเนื้อหาน่าสนใจมาก และมีรายละเอียดพอสมควร หากผู้อ่านสนใจต้นฉบับ สามารถหาอ่านได้ที่หน้าเว็บไซต์ขององค์การสุขภาพสัตว์โลกได้เช่นเดิม www.oie.int แต่ตามธรรมเนียมของชาวฟาร์มเรา หมอก็จะเอาเนื้อหามาแบ่งปันกันตั้งแต่ต้นจนจบเหมือนเดิม เพื่อเป็นการ อุ่นเครื่อง สำหรับซีรีส์เรื่องยาวรอบนี้เรามาดูภาพรวมของเอกสารกันก่อนดีกว่าว่ามีหัวข้ออะไรบ้างนะคะ เอกสารมาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพในสถานประกอบการสัตว์น้ำฉบับนี้กำหนดขอบข่ายของเอกสารเอาไว้ชัดเจนว่ามีวัตถุประสงค์ในการเอาไปใช้ยังไงการจัดการความปลอดภัยทางชีวภาพครอบคลุมถึงเรื่องอะไรบ้าง หลักการทั่วไป การจัดชนิดของระบบการผลิตของสถานประกอบการสัตว์น้ำในรูปแบบต่างๆ การจัดการเกี่ยวกับพื้นที่ (area management) เชื้อก่อโรคที่อาจพบได้จากช่องทางต่างๆ (Transmission pathways) เช่น จากสัตว์น้ำ จากผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ของเสียที่ได้จากสัตว์น้ำ น้ำที่ใช้ในระบบการเลี้ยง อาหารสัตว์ วัสดุอุปกรณ์ พาหะนำเชื้อ บุคลากรและผู้เยี่ยมชม และมาตรการในการลดเชื้อก่อโรค (mitigation measures) การวิเคราะห์ความเสี่ยง การระบุอันตราย การประเมินความเสี่ยง การจัดการความเสี่ยง การจัดทำแผนความปลอดภัยทางชีวภาพสำหรับสถานประกอบการ สิ่งสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงในแผนความปลอดภัยทางชีวภาพ (Key components of a biosecurity plan) แค่ภาพรวมชื่อหัวข้อที่จะเล่าให้ฟัง ก็น่าสนใจแล้วใช่ไหมคะ มาดูกันว่าสิ่งที่องค์การสุขภาพสัตว์โลกพูดถึงหรือกำหนดเอาไว้ในเอกสารฉบับนี้ สอดคล้องกับการทำงานในฟาร์มของพวกเราหรือเปล่า การกำหนดเอาไว้ให้ทำมันง่ายหรือมันยาก เราสามารถทำให้ดีมากขึ้นกว่าที่องค์การสุขภาพสัตว์โลกกำหนดไว้ได้หรือไม่ ฉบับหน้าอย่าพลาดต้องมาตามอ่านกันนะคะ ฉบับนี้ลาไปก่อนค่ะ Stay Safe and healthy ka สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม) |