ความปลอดภัยทางชีวภาพในสถานประกอบการสัตว์น้ำของ OIE #1
ชื่อบทความ ความปลอดภัยทางชีวภาพในสถานประกอบการสัตว์น้ำของ OIE #1 คำสำคัญ ความปลอดภัยทางชีวภาพในสถานประกอบการสัตว์น้ำของ OIE สวัสดีค่ะ ต่อจากคราวที่แล้วนะคะที่ เล่าให้อ่านคร่าวๆ ในภาพรวมของเอกสารความปลอดภัยทางชีวภาพในสถานประกอบการสัตว์น้ำของ OIE หรือ องค์การสุขภาพสัตว์โลก วันนี้เราเริ่มมาลงรายละเอียดกันค่ะ ความปลอดภัยทางชีวภาพในระดับสถานประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือฟาร์ม เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพที่มีประสิทธิภาพในระดับประเทศ โซน (zone) หรือ คอมพาร์ทเมนท์ (compartment) เพื่อให้สัตว์น้ำมีสถานะทางสุขภาพที่แข็งแรง สมบูรณ์ และมีสวัสดิภาพสัตว์ที่เหมาะสม หลักการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพในเอกสารมาตรฐานนี้ออกแบบมาเพื่อลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการนำเชื้อก่อโรคเข้ามาในสถานประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การแพร่กระจายภายในสถานประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือการหลุดรอดของเชื้อออกจากสถานประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เนื่องจากระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีความหลากหลาย รวมทั้งสายพันธุ์สัตว์น้ำที่เลี้ยงในฟาร์มก็มีความหลากหลายมากเช่นกัน ดังนั้น การพัฒนาแผนความปลอดภัยทางชีวภาพสำหรับสถานประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจึงเป็นเรื่องที่มีความท้าทายสูงตามไปด้วย ในการปฏิบัติงานต้องมีการประเมินความเสี่ยงต่อโรคที่เกิดจากเชื้อก่อโรคที่เฉพาะเจาะจง และเส้นทางการแพร่เชื้อ (transmission pathways) ที่อาจเกิดขึ้น แผนความปลอดภัยทางชีวภาพจะอธิบายการจัดการและมาตรการทางกายภาพเพื่อลดความเสี่ยงแตกต่างกันไปตามสถานการณ์ของสถานประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บุคลากรสถานประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพสัตว์น้ำหรือสัตวแพทย์ควรมีส่วนร่วมในการพัฒนาและดำเนินการตามแผนความปลอดภัยทางชีวภาพเพื่อให้แน่ใจว่าแผนดังกล่าวที่จัดทำขึ้นสามารถนำไปใช้ได้จริงและมีประสิทธิภาพ โดยผลที่ได้จากการดำเนินการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพในสถานประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คือ การปรับปรุงสุขภาพและสวัสดิภาพสัตว์น้ำตลอดวงจรการผลิต สนับสนุนการค้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำในตลาดที่หลากหลายมากขึ้น ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น (เนื่องจากสัตว์น้ำมีอัตราการรอดที่ดีขึ้น อัตราการเติบโตดี และการใช้อาหารสัตว์ที่ดีขึ้น) นอกจากนี้ ยังเป็นการลดการใช้ยารักษาสัตว์ ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลงและลดปัญหาการพบเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ องค์การสุขภาพสัตว์โลกได้จัดทำเอกสารมาตรฐานในเรื่องนี้ขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นข้อแนะนำให้ประเทศสมาชิกนำไปใช้พัฒนาและดำเนินการจัดทำมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพสำหรับการลดความเสี่ยงของเชื้อก่อโรคที่จะเข้าสู่สถานประกอบการสัตว์น้ำ หรือฟาร์ม ในกรณีที่เชื้อก่อโรคเข้ามาสู่สถาน ประกอบการสัตว์น้ำแล้วการดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพจะลดความเสี่ยงการแพร่กระจายของเชื้อ หรือการหลุดรอดของเชื้อออกนอกสถานประกอบการสัตว์น้ำ เอกสารมาตรฐานฉบับนี้มีขอบข่ายครอบคลุมถึงเรื่องหลักการ (principles) ของระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งจะต้องนำมาตรฐานอื่นที่เกี่ยวข้องของ OIE มาใช้งานร่วมกันด้วยทั้งในระดับประเทศ โซน คอมพาร์ทเมนท์ (compartment) หรือสถานประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยเฉพาะมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและควบคุมเชื้อโรค เนื้อหาของเอกสารมาตรฐานฉบับนี้มีการอธิบายข้อแนะนำเกี่ยวกับความปลอดภัยทางชีวภาพที่จะนำไปใช้กับสถานประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งรวมถึงสถานประกอบการที่มีการเพาะเลี้ยงในระบบกึ่งเปิด (semi-open) กึ่งปิด (semi-closed) และระบบปิด (closed-system) อธิบายถึงหลักการทั่วไปของการวางแผนความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosecurity planning) หมวดหมู่ของระบบการผลิตสัตว์น้ำ การจัดการพื้นที่ มาตรการบรรเทาผลกระทบในเส้นทางการแพร่กระจาย (transmission pathways) ของเชื้อก่อโรค การประยุกต์ใช้วิธีการวิเคราะห์ความเสี่ยง และแนวทางสำหรับการพัฒนาแผนความปลอดภัยทางชีวภาพ เริ่มยาวแล้ว บทความหน้าเรามาอ่านเรื่องหลักการของความปลอดภัยทางชีวภาพในสถานประกอบการสัตว์น้ำกันค่ะ สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม) |