ความปลอดภัยทางชีวภาพในสถานประกอบการสัตว์น้ำของ OIE #2
ชื่อบทความ ความปลอดภัยทางชีวภาพในสถานประกอบการสัตว์น้ำของ OIE #2 คำสำคัญ ความปลอดภัยทางชีวภาพในสถานประกอบการสัตว์น้ำของ OIE เพื่อไม่ให้เสียเวลา เรามาเริ่มต่อกันจากคราวที่แล้วกันเลยค่ะ หลักการทั่วไปของความปลอดภัยทางชีวภาพในสถานประกอบการสัตว์น้ำตามที่ OIE กำหนดไว้มีอะไรบ้าง อย่างที่ทราบกันว่าความปลอดภัยทางชีวภาพเป็นชุดของการจัดการและมาตรการทางกายภาพ ซึ่งเมื่อนำมาใช้ร่วมกันจะช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อก่อโรคในสัตว์น้ำภายในสถานประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ การวางแผนและการดำเนินการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพภายในสถานประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจำเป็นต้องมีการระบุความเสี่ยงและมาตรการที่พิจารณาแล้วว่ามีคุ้มค่าเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความปลอดภัยทางชีวภาพที่กำหนดไว้ในแผน แต่ละสถานประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหรือฟาร์มจะมีมาตรการที่จำเป็นกำหนดเอาไว้แตกต่างกัน (การจัดทำแผนความปลอดภัยทางชีวภาพของแต่ละฟาร์มก็เหมือนกับการตัดเสื้อใส่เองนะคะ เพราะแต่ละฟาร์มมีปัจจัยต่างกัน) ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น โอกาสในการพบเชื้อก่อโรค ชนิดของสัตว์น้ำที่เลี้ยงในฟาร์ม หมวดหมู่ของระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ วิธีการเลี้ยง สภาพแวดล้อมและที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ อาจใช้วิธีการหรือแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างกัน แต่บรรลุวัตถุประสงค์ เป้าหมายด้านความปลอดภัยทางชีวภาพที่กำหนดไว้ได้ อย่างไรก็ตาม ทาง OIE ก็ได้ให้แนวทางสำหรับพิจารณาหลักการทั่วไปในการพัฒนาและดำเนินการตามแผนความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ค่ะ 1. ต้องระบุเส้นทางที่เป็นไปได้สำหรับที่พวกเชื้อก่อโรคที่จะเข้าสู่ฟาร์ม หรือ แพร่กระจายภายในฟาร์ม และหลุดรอดออกจากฟาร์ม โดยการวางแผนความปลอดภัยทางชีวภาพต้องคำนึงถึงประเภทของระบบเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการออกแบบ (design) สถานประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 2. ควรมีการวิเคราะห์ความเสี่ยง (Risk analysis ) เพื่อระบุและประเมินความรุนแรงของโรคและจะช่วยให้เราแน่ใจว่าแผนจัดการกับความเสี่ยงที่จัดทำไว้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากพอ การวิเคราะห์ความเสี่ยงอาจมีตั้งแต่แบบง่ายไปจนถึงการวิเคราะห์ที่ซับซ้อน ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของแผนความปลอดภัยทางชีวภาพ สถานการณ์ของสถานประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และความเสี่ยงของโรค 3. ควรมีการประเมินมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพที่จัดทำขึ้นเพื่อจัดการกับความเสี่ยงของโรคที่กำหนด โดยพิจารณาประสิทธิภาพของมาตรการ ต้นทุนที่ใช้ในการวางแผนวางมาตรการและระบบ (เช่น งานก่อสร้าง การบำรุงรักษา) และข้อกำหนดที่เกี่ยวกับด้านการจัดการความเสี่ยงของฟาร์ม 4. ควรมีการบูรณาการแนวปฏิบัติด้านการจัดการความเสี่ยงเข้ากับขั้นตอนการปฏิบัติงานของฟาร์ม และมีการจัดการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องให้กับบุคลากร เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและชัดเจน 5. ต้องมีการจดบันทึกและมีเอกสารประกอบการทำงานที่เหมาะสม เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้บุคลากร สามารถปฏิบัติและดำเนินการตามแผนความปลอดภัยทางชีวภาพได้อย่างมีประสิทธิผล 6. ควรมีการกำหนดตารางการทำงานเพื่อการทบทวนและตรวจสอบผลจากการปฏิบัติตามแผนความปลอดภัยทางชีวภาพเป็นประจำ ต้องให้มีกรณีที่จะต้องตรวจสอบทบทวนแผนงานเป็นการเฉพาะกิจ เช่น กรณีที่พบการระบาดของโรค การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานของฟาร์ม การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเทคนิคการผลิต แค่เริ่มต้นหลักการทั่วไปของความปลอดภัยทางชีวภาพก็เริ่มจะเข้าใจยากแล้ว ฉบับนี้ขอพักตรงนี้ก่อน ฉบับหน้าอย่าพลาดต้องมาตามอ่านกันนะคะ Stay Safe and healthy เช่นเดิมค่ะ สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม) |