
พืชสมุนไพรกับสุขภาพปลา ชื่อบทความ พืชสมุนไพรกับสุขภาพปลา คำสำคัญ สมุนไพร สุขภาพปลา สวัสดีท่านผู้อ่านชาวฟาร์มทุกท่านค่า หวังว่าทุกท่านจะสบายดีกันนะคะ วันนี้ขอคั่นซีรีย์ยาวเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพในสถานประกอบการสัตว์น้ำ ด้วยเรื่องเบาสมองสักหน่อย ในช่วงที่เราเผชิญสถานการณ์โควิดกันนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยนะคะว่านอกจากยาแผนปัจจุบันที่จำเป็นสำหรับการรักษาโรคแล้ว พืชสมุนไพรก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่มาแรงไม่แพ้กัน ในวันนี้เลยจะมาชวนพูดคุยกันในเรื่องของพืชสมุนไพรที่มีการทดลองนำมาใช้เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันและเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียในปลากันค่ะ อย่างที่เราทราบกันดีว่าการเลี้ยงปลาหนาแน่นในลักษณะฟาร์มที่เราปฏิบัติกันนั้น ปลามีโอกาสที่จะเป็นโรคติดต่อได้ง่ายขึ้น นั่นจึงเป็นสาเหตุทำให้เราจำเป็นต้องมีการใช้สารเคมีหรือยาปฏิชีวนะมาช่วยในการจัดการปัญหากันใช่มั้ยคะ แต่จากสถาณการณ์ในปัจจุบันทั้งปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาและปัญหามลพิษจากฟาร์มที่ปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม ผู้บริโภคค่อนข้างตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ ดังนั้น การใช้สารเคมีและยาปฏิชีวนะจึงมีแนวโน้มที่จะถูกจำกัดการใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้เราต้องมีการหาทางเลือกอื่นๆ มาเพื่อใช้ทดแทนสารเคมีและยาปฏิชีวนะเหล่านั้นกัน ซึ่งพืชสมุนไพรจึงเป็นทางเลือกที่มีการหยิบยกนำมาศึกษา เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่จะสามารถนำมาใช้เพื่อส่งเสริมภูมิคุ้มกันของปลาเพื่อต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย และยังมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย โดยพืชสมุนไพรที่มีการนำมาทดลองและให้ผลดีต่อสุขภาพปลาก็มีอยู่ด้วยกันหลายชนิดค่ะ แต่ที่จะนำมาพูดคุยกันวันนี้ขออนุญาตเลือกมาเฉพาะสมุนไพรไทยที่เราพอจะรู้จักคุ้นเคยกันอยู่ก่อนแล้วกันนะคะ ตัวแรกเลยเชื่อว่าทุกคนรู้จักแน่นอนนั่นคือ “กระเทียม” นั่นเองค่ะ ที่ผ่านมาผลการทดลองส่วนใหญ่ให้ผลไปแนวทางเดียวกันว่ากระเทียมมีผลดีต่อระบบภูมิคุ้มกันของปลา เช่น มีผลในการกระตุ้นเม็ดเลือดขาว กระตุ้นการกำจัดเชื้อแบคทีเรีย และยังมีผลส่งเสริมอัตราการรอดของปลาเมื่อทดสอบด้วยเชื้อแบคทีเรียก่อโรค Aeromonas hydrophila และ Vibrio harveyi อีกด้วย โดยการทดลองส่วนมากเป็นการให้กระเทียมแก่ปลาในรูปแบบผสมอาหาร ส่วนชนิดและช่วงวัยของปลาที่ใช้ในการทดลองนั้นมีความแตกต่างกันไป มีทั้งปลายี่สกเทศ ปลากะพง และปลาเทราต์ ตามที่ผู้ทดลองออกแบบงานวิจัยค่ะ สมุนไพรอีกตัวที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ได้แก่ “สะเดา” ค่ะ เชื่อว่าเราพอจะทราบถึงสรรพคุณในการไล่แมลงและปรสิตบางชนิดของเค้ากันอยู่แล้วใช่มั้ยคะ นอกจากนั้นแล้วนักวิจัยยังพบว่าการจุ่มแช่ (dip) ปลาไนด้วยสารสกัดจากใบสะเดาสามารถช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในเซรั่มของปลาได้ ทำให้ปลามีความทนทานต่อเชื้อ A. hydrophila อีกทั้งการให้สารสกัดจากใบสะเดาผสมในอาหารแก่ลูกปลากะพงและลูกปลาไน ก็ส่งผลดีต่อระบบภูมิคุ้มกันของปลา ทำให้ลูกปลามีความทนทานต่อเชื้อ V. harveyi ส่งผลให้ปลามีอัตราการตายที่ลดลงตามมาค่ะ จะเห็นได้ว่าจากประสิทธิภาพของ กระเทียมและสะเดา เราอาจนำสมุนไพรเหล่านี้มาใช้เป็นทางเลือกแทนยาปฏิชีวนะในการบรรเทาอาการป่วยจากการติดเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวได้เลยใช่มั้ยคะ นอกเหนือไปจากนี้ก็ยังมีสมุนไพรอีกหลายชนิดเลยนะคะ ที่มีคุณสมบัติที่ดีในทำนองเดียวกัน อย่างไรก็ตามข้อมูลที่นำมาเสนอในวันนี้เป็นเพียงข้อมูลจากการทดลองเท่านั้น ซึ่งขนาดและรูปแบบของการใช้พืชสมุนไพรมีความจำเพาะต่อชนิดและอายุของปลา ดังนั้น จึงยังขาดข้อมูลเชิงสรุปสำหรับการนำมาใช้ปฏิบัติโดยทั่วไป และข้อจำกัดที่สำคัญอีกอย่างคือหลายประเทศยังไม่มีการยอมรับการใช้สมุนไพรเพื่อการเลี้ยงปลาโดยเฉพาะประเทศแถบยุโรป เช่น อังกฤษ ที่มีกฎข้อบังคับต่างๆ ค่อนข้างเคร่งครัด ยังไงเราคงต้องติดตามข่าวสารและปรับวิธีการตามการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์กันต่อไปนะคะ หวังว่าฉบับนี้ท่านผู้อ่านจะได้สาระความรู้ไปบ้างไม่มากก็น้อยนะคะ แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าค่ะ สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม) |