ความปลอดภัยทางชีวภาพในสถานประกอบการสัตว์น้ำของ OIE #4
ชื่อบทความ ความปลอดภัยทางชีวภาพในสถานประกอบการสัตว์น้ำของ OIE #4 คำสำคัญ ความปลอดภัยทางชีวภาพในสถานประกอบการสัตว์น้ำของ OIE ในการวางแผนและพิจารณาการจัดการเกี่ยวกับความปลอดภัยทางชีวภาพในสถานประกอบการสัตว์น้ำ จะต้องทราบเกี่ยวกับเส้นทางการแพร่กระจายและมาตรการลดผลกระทบ ซึ่ง OIE ได้ระบุประเภทของเส้นทางการแพร่กระจายของเชื้อก่อโรคเอาไว้หลายช่องทางนะคะ ได้แก่ เชื้อก่อโรคที่มาจากสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และของเสียจากสัตว์น้ำ น้ำ (แหล่งน้ำ) อาหารสัตว์น้ำ วัตถุที่นำเชื้อก่อโรค (fomite) พาหะนำเชื้อก่อโรค (vector) และบุคลากร ผู้มาเยี่ยมชมสถานประกอบการสัตว์น้ำ ทั้งนี้ การระบุเส้นทางการแพร่กระจายที่เป็นไปได้ทั้งหมดมีความสำคัญต่อการจัดทำแผนความปลอดภัยทางชีวภาพที่มีประสิทธิภาพ โดยจะต้องมีการจัดลำดับความสำคัญของเส้นทางแพร่กระจายที่มีแนวโน้มว่าจะส่งผลเสียหรือผลกระทบในฟาร์ม และดำเนินการวางแผนการจัดการเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งจะต้องมีการพิจารณาความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการที่เชื้อก่อโรคจะเข้ามาในฟาร์ม การแพร่กระจายของเชื้อภายในฟาร์ม และการหลุดรอดของเชื้อก่อโรคออกจากฟาร์มด้วย สำหรับบทความวันนี้ จะขออธิบายรายละเอียดของเชื้อก่อโรคที่มาจากสัตว์น้ำ (Aquatic animals) ก่อนค่ะ การนำสัตว์น้ำเข้าฟาร์ม การเคลื่อนย้ายสัตว์น้ำภายในฟาร์ม และเคลื่อนย้ายสัตว์น้ำออกจากฟาร์ม มีโอกาสสูงที่จะแพร่เชื้อก่อโรคได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีการเคลื่อนย้ายสัตว์น้ำที่ติดเชื้อ มีอาการป่วยหรือป่วยเล็กน้อย หรือสัตว์น้ำที่เราไม่ทราบสถานะสุขภาพว่าแข็งแรงดีหรือไม่ และสัตว์น้ำที่ว่ามาถูกย้ายไปเลี้ยงร่วมกับกลุ่มสัตว์น้ำที่ไวรับต่อการติดเชื้อ ทั้งนี้ การเคลื่อนย้ายสัตว์น้ำประเภทนี้ก็จะรวมถึงการย้ายพ่อแม่พันธุ์ สัตว์น้ำวัยอ่อน ปลาขุน และสารพันธุกรรม (genetic material) ด้วย เช่น ไข่และน้ำเชื้อ โดยต้องพิจารณากลไกของการแพร่กระจายเชื้อทุกรูปแบบทั้ง horizontal and vertical transmission ควรมีการจัดการความเสี่ยงในการแพร่เชื้อก่อโรคผ่านทางสัตว์น้ำ โดยคำนึงถึงมาตรการลดผลกระทบที่สามารถเกิดขึ้นได้ดังต่อไปนี้ 1. สัตว์น้ำที่จะเคลื่อนย้ายเข้าสู่ของสถานประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจะต้องเป็นสัตว์น้ำที่ทราบสถานะทางสุขภาพเท่านั้น โดยควรมีสถานะทางสุขภาพที่เท่ากันหรือสูงกว่าสัตว์น้ำที่มีอยู่เดิม 2. ควรกักกันสัตว์น้ำเข้าใหม่ หากไม่ทราบสถานะทางสุขภาพ 3. กักกันสัตว์น้ำเพื่อลดความเสี่ยงต่อการพบเชื้อก่อโรค หรือกระจายโรคในฟาร์ม ให้ยากำจัดปรสิตภายนอก 4. ตรวจสอบให้แน่ใจว่าในกระบวนการขนส่งสัตว์น้ำ มีการจัดการเกี่ยวกับความปลอดภัยทางชีวภาพที่หลีกเลี่ยงการสัมผัสและแพร่กระจายของเชื้อก่อโรค 5. ในการเคลื่อนย้ายสัตว์น้ำภายในสถานประกอบการ ต้องพิจารณาความเสี่ยงของโรค เพื่อรักษาสถานะสุขภาพของสัตว์น้ำด้วย 6. ให้แยกสัตว์น้ำที่แสดงอาการของโรคออกจากบ่อเลี้ยง จนกว่าจะทราบสาเหตุ และได้ดำเนินการแก้ไขแล้ว 7. เมื่อพบสัตว์น้ำที่ป่วยหรือตาย ให้นำออกจากบ่อเลี้ยงทันที และทำลายซากด้วยวิธีที่เหมาะสมและไม่ทำให้เชื้อก่อโรคแพร่กระจายหรือหลุดออกนอกฟาร์ม 8. เมื่อพบการตายโดยไม่ทราบสาเหตุหรือผิดปกติ หรือสงสัยว่ามีโรคระบาดให้แจ้งเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเพื่อสอบสวนและวินิจฉัยสาเหตุการตายต่อไป 9. หากสามารถทำได้ ให้นำสัตว์น้ำทั้งหมดหรือบางส่วนออกฟาร์มเป็นระยะ เช่น ระหว่างรุ่นสัตว์น้ำหรือรอบการผลิต แล้วดำเนินการทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ และตากบ่อเลี้ยง ปิดพักพื้นที่เลี้ยงในระยะเวลาที่เพียงพอสำหรับตัดวงจรเชื้อก่อโรคหรือลดการสะสมของเชื้อก่อโรคในสัตว์น้ำชุดใหม่ที่นำเข้ามาเลี้ยง ควรมีการประสานงานระหว่างสถานประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีการใช้แหล่งน้ำร่วมกัน เพื่อกำจัดขยะให้เหมาะสม เนื่องจากมีแหล่งน้ำที่ใช้ร่วมกันจะมีความเชื่อมโยงทางระบาดวิทยา 10. พิจารณามาตรการทางกายภาพ (physical measures) เพื่อลดโอกาสในการหลุดรอดของสัตว์น้ำที่เลี้ยงออกจากฟาร์ม หรือสัตว์น้ำตามธรรมชาติหลุดเข้ามาในสถานเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทั้งนี้ โอกาสที่สัตว์น้ำจะเข้าหรือออกจากระบบการเลี้ยงแบบกึ่งเปิด (semi-open) จะสูงกว่าระบบปิด (closed) หรือกึ่งปิด สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเม) |