ความปลอดภัยทางชีวภาพในสถานประกอบการสัตว์น้ำของ OIE #5
ชื่อบทความ ความปลอดภัยทางชีวภาพในสถานประกอบการสัตว์น้ำของ OIE #5 คำสำคัญ ความปลอดภัยทางชีวภาพในสถานประกอบการสัตว์น้ำของ OIE บทความครั้งก่อนหน้านี้ เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับเส้นทางการแพร่กระจายของเชื้อก่อโรคที่เป็นไปได้ในสถานประกอบการสัตว์น้ำหรือฟาร์ม โดยเน้นรายละเอียดของเชื้อก่อโรคที่มาจากสัตว์น้ำ (Aquatic animals) และมาตรการลดผลกระทบที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งหมด 10 มาตรการ สำหรับวันนี้เราจะมาต่อกันในส่วนของเส้นทางการแพร่กระจายของเชื้อก่อโรคที่มาจาก “ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำและของเสียจากสัตว์น้ำ” (Aquatic animal products and aquatic animal waste) ในหลักการเดียวกันกับเรื่องของเชื้อก่อโรคที่มาจากสัตว์น้ำ ดังนั้น ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำและของเสียจากสัตว์น้ำก็สามารถแพร่เชื้อก่อโรคได้ การนำผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเข้าฟาร์ม การเคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำภายในฟาร์ม และเคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำออกจากฟาร์ม เช่น ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ได้จากการเพาะเลี้ยงในบริเวณอื่น นำเข้ามาในฟาร์ม ในกรณีที่มีสัตว์น้ำติดเชื้อ ป่วย ตาย หรือมีโรคระบาดสัตว์น้ำและมีการทำลายสัตว์น้ำตามมาตรการจัดการและการควบคุมโรค จะทำให้กลายเป็นซากและทำให้เกิดของเสียจากสัตว์น้ำ หรือเมื่อนำสัตว์น้ำไปแปรรูปเพื่อการบริโภค หรือแปรรูปเพื่อวัตถุประสงค์อื่นก็จะมีของเสียจากสัตว์น้ำเกิดขึ้นได้เช่นกัน การเคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำและของเสียจากสัตว์น้ำเข้า หรือออก หรือเคลื่อนย้ายภายในสถานเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อาจเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อก่อโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ในฟาร์มมีกลุ่มสัตว์น้ำที่ไวรับต่อการติดเชื้อ หากสัมผัสกับผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำและของเสียจากสัตว์น้ำที่ได้จากสัตว์น้ำที่ติดเชื้อหรือป่วย จะยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของสัตว์น้ำในฟาร์ม ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการเคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำและของเสียจากสัตว์น้ำเข้าไปในสถานประกอบการสัตว์น้ำ โดย OIE ได้จัดทำข้อกำหนดเฉพาะที่เกี่ยวกับการเก็บ การเคลื่อนย้าย/ขนส่ง การทำลาย และการจัดการ/บำบัดของเสียจากสัตว์น้ำไว้แล้ว หากจำเป็นจะต้องมีการเคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำและของเสียจากสัตว์น้ำ ควรประเมินความเป็นไปได้ที่จะมีเชื้อก่อโรคในผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำและของเสียจากสัตว์น้ำ โดยคำนึงถึงชนิด (species) ของสัตว์น้ำ แหล่งที่มา และสถานะทางสุขภาพร่วมด้วย ควรมีการประเมินความเสี่ยงในการแพร่เชื้อก่อโรคผ่านผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำและของเสียจากสัตว์น้ำ และจัดการความเสี่ยง โดยคำนึงถึงมาตรการลดผลกระทบที่สามารถเกิดขึ้นได้ดังต่อไปนี้ 1. กำหนด/ระบุความเสี่ยงของโรคที่อาจเกิดขึ้นได้ในสัตว์น้ำที่เลี้ยง หรือที่อาจกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเป็นความเสี่ยงการเกิดโรคที่มาจากผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำและของเสียจากสัตว์น้ำ 2. จัดให้มีบริเวณแยกต่างหาก หรือบริเวณเฉพาะที่จะสามารถจัดการผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำและของเสียจากสัตว์น้ำ โดยควรเป็นพื้นที่ที่แยกออกจากพื้นที่เลี้ยงเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อก่อโรคที่ได้กำหนด/ระบุไว้ตามข้อ 1 3. ตรวจสอบให้แน่ใจว่าในกระบวนการ หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานมีความเหมาะสม และผู้ปฏิบัติงานได้ดำเนินงานตามขั้นตอนการเก็บรวบรวม การบำบัด (ทำลายเชื้อก่อโรค) การขนส่ง การจัดเก็บหรือการกำจัดผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำและของเสียจากสัตว์น้ำที่เหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อก่อโรคที่ได้กำหนด/ระบุไว้ตามข้อ 1 รอบหน้าเรามาดูเส้นทางการแพร่กระจายของเชื้อก่อโรคที่เป็นไปได้อื่นๆ ต่อนะคะ สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเมย์) |