ความปลอดภัยทางชีวภาพในสถานประกอบการสัตว์น้ำของ OIE #6
ชื่อบทความ ความปลอดภัยทางชีวภาพในสถานประกอบการสัตว์น้ำของ OIE #6 คำสำคัญ ความปลอดภัยทางชีวภาพในสถานประกอบการสัตว์น้ำของ OIE บทความที่ผ่านมาเราพูดกันถึงเรื่องสัตว์น้ำ และของเสียจากสัตว์น้ำซึ่งจัดเป็นเส้นทางหลักของการแพร่กระจายของเชื้อก่อโรคเลย สำหรับวันนี้ก็ยังมีเส้นทางหลักที่สำคัญมากๆ อีกเส้นทางหนึ่ง ที่เราจะละเลยไม่พูดถึงเส้นทางนี้ไม่ได้อย่างแน่นอนเลยนะคะ นั่นก็คือ เส้นทางการแพร่กระจายของเชื้อก่อโรคที่มาจาก “น้ำ” เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการเลี้ยงปลาถ้าคุณภาพน้ำเหมาะสมจะทำให้ปลามีสุขภาพดีและช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตของปลา ดังนั้น รูปแบบการจัดการการเลี้ยง รวมทั้งวิธีการจัดการคุณภาพน้ำ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก และสัมพันธ์กับความเสี่ยงของการเกิดโรค โดยสภาพแวดล้อมที่แย่ จะส่งผลเสียต่อสุขภาพของสัตว์น้ำ น้ำอาจสามารถเป็นหนึ่งในความเสี่ยงของการนำเชื้อก่อโรคเข้ามาในฟาร์มได้ และมีส่วนในการแพร่เชื้อก่อโรคภายในฟาร์มเอง หรือแพร่เชื้อออกนอกฟาร์มได้ หากไม่มีการจัดการที่ถูกต้องเหมาะสม ทั้งนี้ แหล่งน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงก็มีความสำคัญที่จะต้องพิจารณาด้วย ต้องรู้แหล่งที่มาของน้ำที่ใช้ รู้ว่าแหล่งน้ำนี้มีความเชื่อมโยงทางระบาดวิทยา (epidemiological link) ระหว่างฟาร์ม/สถานประกอบการเพาะเลี้ยงในบริเวณเดียวกันหรือไม่ หรือเชื่อมโยงกับแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีสัตว์น้ำ พืชน้ำที่มีความเสี่ยงในการส่งผ่านเชื้อก่อโรคที่สำคัญกับสัตว์น้ำในฟาร์มอย่างไร นอกจากนี้ ต้องควรพิจารณาความเชื่อมโยงกับน้ำที่ใช้ในการขนส่งและน้ำทิ้งด้วย ผู้ประกอบการต้องนำข้อมูลมาพิจารณาแบบองค์รวมและประมวลความเสี่ยง ระบุความเสี่ยงที่สามารถพบได้จากน้ำ ความเสี่ยงของฟาร์มที่จะสัมผัสกับน้ำที่มีเชื้อก่อโรคอาจแตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับประเภทของสถานประกอบการสัตว์น้ำ/ระบบการผลิตสัตว์น้ำที่มีแตกต่างกันตามที่ได้เขียนให้อ่านกันไปแล้วในตอนที่ 3 ของ series ความปลอดภัยทางชีวภาพในสถานประกอบการสัตว์น้ำของ OIE (ระบบเปิด (open systems) ระบบกึ่งเปิด (Semi-open systems) ระบบกึ่งปิด (Semi-closed systems) และระบบปิด (closed systems)) โดยมีความเป็นไปได้สูงที่จะพบความเสี่ยงมากขึ้นในระบบเปิด และกึ่งเปิด การรับน้ำมาจากแหล่งที่ไม่ทราบสถานะทางสุขภาพของสัตว์น้ำต้นทาง หรือทราบว่าสัตว์น้ำต้นทางมีสถานะสุขภาพที่ต่ำกว่า จะมีความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อโรคไปยังสัตว์น้ำที่มีสถานะสุขภาพที่สูงขึ้น ควรมีการประเมินความเสี่ยงของการแพร่เชื้อก่อโรคผ่านทางน้ำ และมีการจัดการโดยคำนึงถึงมาตรการลดผลกระทบที่สามารถเกิดขึ้นได้ดังต่อไปนี้ 1. หากสามารถทำได้ ให้เลือกแหล่งน้ำที่ไม่มีประชากรสัตว์น้ำที่ไวรับต่อเชื้อก่อโรคที่อยู่ในพื้นที่เลี้ยง แหล่งน้ำดังกล่าวอาจรวมถึงน้ำบาดาล น้ำประปาที่ไม่มีคลอรีน และน้ำทะเลเทียม แหล่งน้ำประเภทนี้จะเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีมูลค่าสูงซึ่งต้องดูแลให้มีภาวะทางสุขภาพสูง เช่น พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ 2. ต้องจัดให้มีการตรวจคัดกรอง (screening) การกรอง (filtration) หรือการฆ่าเชื้อ (disinfection) ในระดับที่เหมาะสม โดยเฉพาะการกรอง การฆ่าเชื้อน้ำจากแหล่งที่มีแนวโน้มว่าจะมีสัตว์น้ำที่อ่อนแอ และอาจมีความเสี่ยงของการแพร่กระจายของเชื้อก่อโรค ทั้งนี้ ประเภทและระดับของการจัดการน้ำจะขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่ระบุตอนที่พิจารณาแหล่งน้ำ ความเชื่อมโยงทางระบาดวิทยา และเชื้อก่อโรคร่วมกัน 3. ต้องจัดให้มีการกรอง (filtration) หรือการฆ่าเชื้อ (disinfection) ในระดับที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน สำหรับ น้ำทิ้งและของเสียที่จะปล่อยออกนอกฟาร์ม ซึ่งน้ำทิ้งและของเสียดังกล่าวอาจมีความเสี่ยงที่เชื้อก่อโรคจะแพร่ไปสู่ธรรมชาติ สัตว์น้ำหรือสถานเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอื่นๆ ที่มีสัตว์น้ำที่อ่อนแอกว่า ทั้งนี้ ประเภทและระดับของการจัดการน้ำจะขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่ระบุ 4. ตรวจสอบให้แน่ใจว่าตำแหน่งที่นำน้ำเข้ามาใช้และตำแหน่งการทิ้งน้ำออก มีความเหมาะสมเพื่อลดการปนเปื้อนของเชื้อก่อโรคจากฟาร์มอื่น หรือแหล่งน้ำธรรมชาติอื่น หรือโรงงานแปรรูป โดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เช่น ระยะทางและกระแสน้ำ 5. ควรมีการประเมินความเป็นไปได้ของการไหลเข้าของน้ำที่อาจปนเปื้อนทั้งจากเหตุการณ์น้ำท่วมจากแหล่งน้ำภายนอก หรือจากความบกพร่องเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่อน้ำรั่ว ท่อระบายน้ำอุดตัน เขื่องกั้นน้ำหรือพนังกั้นน้ำพัง ควรประเมินความเป็นไปได้ที่อาจพบทั้งหมดและนำมาตรการการจัดการหรือโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมไปใช้ป้องกัน ตรวจสอบ และเฝ้าระวัง 6. ประเมินความเสี่ยงและกำหนดขั้นตอนในการบำบัดและกำจัดน้ำเสียที่เกิดจากการขนส่งสัตว์น้ำ ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นประเด็นของเส้นทางการแพร่กระจายของเชื้อก่อโรคที่มาจากน้ำนะคะ บทความหน้ายังมีต่อค่ะ เราต้องทราบทเส้นทางทั้งหมดก่อนจึงจะสามารถดำเนินงานเกี่ยวกับความปลอดภัยทางชีวภาพในสถานประกอบการสัตว์น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดค่ะ สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเมย์) |