ความปลอดภัยทางชีวภาพในสถานประกอบการสัตว์น้ำของ OIE #8
ชื่อบทความ ความปลอดภัยทางชีวภาพในสถานประกอบการสัตว์น้ำของ OIE #8 คำสำคัญ ความปลอดภัยทางชีวภาพในสถานประกอบการสัตว์น้ำของ OIE ในบทความนี้เราเดินทางกันมาถึง 3 เส้นทางสุดท้ายของการแพร่กระจายของเชื้อก่อโรคที่เป็นไปได้ในสถานประกอบการสัตว์น้ำหรือฟาร์ม ที่จะต้องรู้ ต้องคำนึงถึงเพื่อนำไปใช้ในการจัดการวางแผนจัดทำความปลอดภัยทางชีวภาพในสถานประกอบการสัตว์น้ำให้มีประสิทธิภาพค่ะ ไม่อารัมภบทยืดยาว ขอเข้าไปถึงสาระกันเลยว่า 3 เส้นทางที่เหลือ ได้แก่ (1) วัตถุที่เป็นพาหะนำโรค (Fomites) (2) เวกเตอร์ (Vectors) และ (3) บุคลากรและผู้เยี่ยมชม (Personnel and visitors) มีรายละเอียดยังไงบ้างนะคะ 1. วัตถุที่เป็นพาหะนำโรค (Fomites) อุปกรณ์ ยานพาหนะ วัสดุ บรรจุภัณฑ์ เสื้อผ้าและรองเท้าที่ใช้ในฟาร์ม เลนก้นบ่อ โครงสร้างของบ่อ และ วัตถุที่เป็นพาหะนำโรคอื่น ๆ สามารถเป็นตัวกลางในการแพร่เชื้อเข้าสู่ฟาร์มและแพร่เชื้อภายในฟาร์มสัตว์น้ำได้ ความเป็นไปได้ในการแพร่กระจายเชื้อก่อโรคจะขึ้นอยู่กับความคงทนของเชื้อก่อโรคในสิ่งแวดล้อม หรือบนพื้นผิว โดยจะพบว่าในพื้นผิวที่ทำความสะอาดยาก ฆ่าเชื้อยาก และเชื้อสามารถคงมีชีวิตอยู่ได้นานจะมีโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อมากกว่า การใช้อุปกรณ์ร่วมกันระหว่างฟาร์ม หน่วยการผลิตสัตว์น้ำ หรือระหว่างบ่อเลี้ยง อาจส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อก่อโรคได้ ควรมีการประเมินความเสี่ยงของการแพร่เชื้อก่อโรค และมีการจัดการโดยคำนึงถึงมาตรการลดผลกระทบที่สามารถเกิดขึ้นได้ ดังนี้ - ประเมินว่าจะมีความเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวข้องกับวัตถุที่เป็นพาหะนำโรคชนิดใดได้บ้าง ที่มีการนำเข้า ออกในฟาร์ม หรือบริเวณพื้นที่หน่วยการผลิต บ่อเลี้ยง - ต้องตรวจสอบขั้นตอนการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ และโครงสร้างของพื้นที่การผลิต เพื่อให้มั่นใจว่ามีกระบวนการทำความสะอาดที่ถูกต้องเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ - สำหรับวัตถุที่ทำความสะอาดยาก หรือเสื่อมสภาพได้ง่าย หรือสิ่งของที่มีโอกาสปนเปื้อนสูง ควรจัดไว้ให้ใช้ในพื้นที่เฉพาะ ไม่ควรเคลื่อนย้ายไปใช้ร่วมกันในพื้นที่การผลิตหรือบ่อเลี้ยงอื่น - หากมีการเคลื่อนย้ายวัตถุ จะต้องมีการทำความสะอาด มีการทบทวนวิธีการและขั้นตอนการทำความสะอาดว่ามีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากพอในการทำลายเชื้อก่อโรค 2.พาหะนำเชื้อหรือเวกเตอร์ (Vectors) พาหะนำเชื้อหรือเวกเตอร์ สามารถแพร่เชื้อก่อโรคไปยังสัตว์น้ำที่อ่อนแอได้ พาหะนำเชื้อหรือเวกเตอร์อาจเป็นสัตว์น้ำอื่นที่หลุดเข้าพื้นที่เลี้ยง นกป่า สัตว์อื่น และสัตว์รบกวน เช่น หนู ทั้งนี้ แนวโน้มของการแพร่เชื้อก่อโรค ผ่านทางพาหะจะแตกต่างกันไปตามชนิดของพาหะ ลักษณะของเชื้อก่อโรค ประเภทของระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และระดับความปลอดภัยทางชีวภาพ สำหรับการประเมินความเสี่ยงของการแพร่เชื้อก่อโรค และการจัดการควรคำนึงถึงมาตรการลดผลกระทบที่สามารถเกิดขึ้นได้ ดังนี้
(1) มาตรการบรรเทาผลกระทบทางกายภาพเพื่อป้องกันพาหะเข้าไปในฟาร์ม เช่น การกรอง ตรวจคัดกรองน้ำที่เข้าและออกจากระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบกึ่งปิดและแบบปิด การจัดให้มีรั้ว หรือกำแพงเพื่อป้องกัน ควบคุมการเข้ามาของสัตว์และคนมายังพื้นที่การผลิต มีประตูสำหรับควบคุมการเข้าออก โดยบุคลากรและผู้เยี่ยมชมต้องเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตก่อนเข้าในพื้นที่การผลิต มีตาข่ายกลางคลุมปากบ่อเพื่อป้องกันนก (2) การควบคุมสัตว์พาหะ (pest control) 3. บุคลากรและผู้เยี่ยมชม (Personnel and visitors) ควรมีการควบคุมบุคลากรและผู้เยี่ยมชมสถานประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยกำหนดพื้นที่ที่อนุญาตให้เข้าถึงได้ เช่น พื้นที่ภายนอกระบบการผลิตให้จัดเป็นพื้นที่เสี่ยง สำหรับบริเวณที่มีการเพาะเลี้ยงก็จัดให้เป็นพื้นที่ที่ต้องมีการดำเนินการเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพ มีการลงทะเบียนรายชื่อผู้เข้าชม ข้อมูลสำหรับติดต่อ และรายละเอียดการสัมผัสสัตว์น้ำหรือเชื้อก่อโรคในระยะเวลาก่อนหน้าที่จะเข้าสู่ฟาร์ม รวมทั้งข้อมูลการเยี่ยมชมสถานประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอื่น ๆ จัดให้มีการเปลี่ยนเสื้อผ้าและรองเท้า หรือใช้วัสดุคลุมผมแบบใช้แล้วทิ้ง เช่น หมวกคลุม เสื้อคลุม ถุงมือ ถุงหุ้มรองเท้า จัดให้มีจุดล้างมือ และอ่างจุ่มเท้า นอกจากนี้ ผู้เยี่ยมชมทุกคนควรได้รับฟังการบรรยายสรุปก่อนเยี่ยมชม และมีการกำกับดูแลเพื่อให้แน่ใจว่าการเยี่ยมชมตามจุดต่างๆ เป็นไปตามแผนความปลอดภัยทางชีวภาพ ควรมีการแสดงป้ายกำกับการปฏิบัติขณะเยี่ยมชมที่ชัดเจนเพื่อส่งเสริมให้บุคลากรและผู้เยี่ยมชมเกิดความตระหนักและการปฏิบัติตามมาตรการแผนความปลอดภัยทางชีวภาพที่กำหนดไว้
รับทราบรายละเอียดกันไปครบถ้วนแล้วสำหรับเส้นทางการแพร่กระจายของเชื้อก่อโรคที่เป็นไปได้ในสถานประกอบการสัตว์น้ำหรือฟาร์มทั้งหมดที่ OIE กำหนดไว้ ในบทความหน้าเรามาดูรายละเอียดของแผนความปลอดภัยทางชีวภาพในสถานประกอบการสัตว์น้ำของ OIE กันค่ะ สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเมย์) |