การสนับสนุนความยั่งยืนในการประมง
ชื่อบทความ การสนับสนุนความยั่งยืนในการประมง คำสำคัญ ประมงยั่งยืน จากบทความก่อนหน้านี้เกี่ยวกับกระแสความต้องการประมงยั่งยืน ถ้าลองมาคิดกันเล่นเล่นว่าในอีก 10 ปี 20 ปี ข้างหน้าโลกเรา หรือแม้แต่ประเทศไทยเองจะสามารถผลิตอาหารและสินค้าประมงมากพอที่จะตอบสนองความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นตามจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้นได้หรือไม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายและเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารของโลก เมื่อเรามาลองดูสถิติตัวเลขการประมงในระดับโลกจะเห็นว่าปริมาณสัตว์น้ำที่บริโภคในโลกเพิ่มขึ้นทุกปี ในขณะที่ยังคงมีการจับสัตว์น้ำจากธรรมชาติอยู่ ซึ่งการจับสัตว์น้ำจากธรรมชาติหากไม่ได้มีการควบคุมดูแลให้เหมาะสม เช่น ไม่จับปลาในฤดูวางไข่ ไม่จับปูที่มีไข่ติดท้อง เป็นต้น อาจทำให้ทรัพยากรของโลกหายไปได้ เนื่องจากไม่ได้รับการดูแลหรือปล่อยให้ฟื้นฟูขึ้นมาได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่หลายหน่วยงานทั่วโลกให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้นพร้อมๆ กับการที่เราได้ยินเรื่องความยั่งยืน หรือ sustainability นั่นเอง คำนี้มีการใช้บ่อยขึ้นมากๆ ในหลายๆ วงการทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่วงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ความยั่งยืนคืออะไร ?? ความยั่งยืนก็คือการนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้และปล่อยให้ทรัพยากรนั้นได้ดำรงอยู่และฟื้นฟูสร้างตัวเองขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อที่ทรัพยากรจะได้ไม่หมดไป ทรัพยากรเหล่านี้เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคของมนุษย์เรา แต่ถ้าเราใช้ทรัพยากรจนหมดโดยไม่ปล่อยให้ฟื้นฟูขึ้นมาสุดท้ายเหตุการณ์นี้จะนำไปสู่การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต ดังนั้น เราควรต้องพยายามทำให้กระบวนการทั้งหมดเกิดสมดุล สมดุลที่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์และการดำรงอยู่ของทรัพยากรด้วย การจับสัตว์น้ำจากธรรมชาติจะต้องคำนึงถึงเรื่องดังกล่าวด้วย นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ในการทำการประมงทั่วโลกยังคงพบมีอัตราการจับปลาจากธรรมชาติอยู่ประมาณ 90 ล้านตัน ตัวเลขที่น่าตกใจนี้บ่งบอกว่าอีกไม่นานสัตว์ทะเลส่วนใหญ่อาจหายไปอย่างรวดเร็วถ้าขาดการควบคุมดูแลที่ดี จำนวนปลาเริ่มน้อยลงและปลาแต่ละตัวไม่มีเวลามากพอที่จะโตเต็มที่และขยายพันธุ์ได้ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ในปัจจุบันนี้ ปริมาณปลาทะเลส่วนใหญ่ที่ขายในตลาด จะนับว่าเป็นการจับปลาในธรรมชาติ ซึ่งเป็นรูปแบบการประมงที่ไม่ส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศและความมั่นคงทางทรัพยากรอาหารต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ ถ้าผู้อ่านจำได้หมอเคยลงรายละเอียดในเรื่องของปลาทะเลกับไมโครพลาสติกให้อ่านกันไปแล้ว ระบบนิเวศทางทะเลที่ถูกทำลาย มักจะพบข่าวว่าเจอสัตว์ทะเลมีพลาสติกหรือไมโครพลาสติกในท้อง ซึ่งปัจจุบันสัตว์ในทะเล ซึ่งรวมทั้งสัตว์น้ำที่เรากิน ก็ยังคงใช้ชีวิตในทะเลและกินพลาสติกนั้นอยู่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้นักวิชาการหลายให้ชื่อเล่นกับมหาสมุทร ว่าเป็น แกงถ้วยใหญ่ที่มีแต่พลาสติก ทางเลือกที่สำคัญสำหรับการลดและแก้ปัญหานี้ คือ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สำหรับการเลี้ยงปลานิลนั้นมีส่วนอย่างมากในกระบวนการแก้ปัญหา ปลานิลเป็นปลาที่บริโภคกันมากที่สุดเป็นอันดับสอง และผลผลิตของปลานิลเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นหนึ่งในปลาที่สำคัญที่สุดในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยมีปริมาณการผลิตในโลกมากกว่า 1.5 ล้านเมตริกตันต่อปี ปลานิลเป็นปลาที่สามารถการเจริญเติบโตได้ดีในสภาวะต่างๆ นอกจากนี้ การบริโภคปลายังเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่อุดมไปด้วยโภชนาการสำคัญของประชากรโลกที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น อาจกล่าวได้ว่าปลานิลที่เลี้ยงในฟาร์มนอกจากจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพมนุษย์แล้ว ยังสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมในช่วงเวลาที่สัตว์น้ำในทะเลลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว สำหรับประเทศไทยเองนั้น เราต้องลองหันกลับมาย้อนดูวิธีปฏิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศ ว่าได้มีการปฏิบัติที่ช่วยสนันสนุนเรื่องของความยั่งยืนสำหรับการผลิตสัตว์น้ำและการประมงอย่างไรบ้าง เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์โลกนะคะ สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเมย์) |