ความปลอดภัยทางชีวภาพในสถานประกอบการสัตว์น้ำของ OIE #9
ชื่อบทความ ความปลอดภัยทางชีวภาพในสถานประกอบการสัตว์น้ำของ OIE #9 คำสำคัญ ความปลอดภัยทางชีวภาพ สถานประกอบการสัตว์น้ำ OIE ใกล้จบแล้วสำหรับบทความซีรีย์ความปลอดภัยทางชีวภาพในสถานประกอบการสัตว์น้ำของ OIE วันนี้เรามาดูเรื่องการจัดทำแผนความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือ Biosecurity plan development กันค่ะ จุดประสงค์ของแผนความปลอดภัยทางชีวภาพก็มีเอาไว้เพื่อลดความเสี่ยงขอเชื้อก่อโรคที่จะเข้ามาในฟาร์มหรือสถานประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และหากเชื้อก่อโรคเข้ามา จะลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายเชื้อก่อโรคเพิ่มเติมภายในฟารมหรือการหลุดรอดของเชื้อก่อโรคออกจากสถานประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ แผนความปลอดภัยทางชีวภาพจะต้องจัดทำเป็นเอกสารที่ระบุเส้นทางการรับและแพร่กระจายเชื้อก่อโรค และผลของการวิเคราะห์ความเสี่ยงที่มี ซึ่งรวมถึงการระบุอันตราย การคาดคะเนความเสี่ยง และมาตรการบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามแผนความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างต่อเนื่อง การติดตามและทบทวนแผนความปลอดภัยทางชีวภาพ ในการจัดทำแผนความปลอดภัยทางชีวภาพ กระบวนการจัดทำแผนความปลอดภัยทางชีวภาพจะแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ ระดับความปลอดภัยทางชีวภาพที่เหมาะสมกับข้อกำหนดของระบบการผลิต ความซับซ้อนของความเสี่ยงต่อโรค และความพร้อมของข้อมูลและทรัพยากรที่ใช้ในการจัดการ โดย OIE ได้แนะนำให้พิจารณาและจัดทำเอกสารในหัวข้อและเนื้อหา ดังนี้ 1. วัตถุประสงค์ ขอบข่าย และข้อกำหนดด้านกฎระเบียบสำหรับแผนความปลอดภัยทางชีวภาพ 2. ข้อมูลเกี่ยวกับสถานประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งรวมถึงแผนผังของสถานประกอบการ อาคารและหน่วยการผลิต (รวมถึงการจัดการที่เกี่ยวกับแผนผังของส่วนที่ที่เกี่ยวกับสุขภาพสัตว์เมื่อเกิดปัญหาการติดเชื้อในฟาร์ม โครงสร้าง และการแยกรักษาสัตว์หรือกักกัน) การขนถ่ายสัตว์น้ำ การจัดเก็บอาหารสัตว์ การจัดเก็บของเสียจากสัตว์น้ำ บริเวณต้อนรับ จุดเชื่อมต่อระหว่างบริเวณต่างๆ และแผนที่ที่แสดงจุดสำคัญที่มีการเคลื่อนย้ายของสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และของเสียจากสัตว์น้ำ น้ำ และอาหารสัตว์ 3. เส้นทางที่เป็นไปได้สำหรับการที่เชื้อก่อโรคเข้ามาสู่ฟาร์ม การแพร่กระจายของเชื้อภายในฟาร์ม หรือการหลุดรอดของเชื้อก่อโรคออกจากสถานประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 4. การวิเคราะห์ความเสี่ยง ซึ่งรวมทั้งการระบุอันตรายจากโรคที่สำคัญต่อสถานประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำนั้นๆ 5. การกำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบเพื่อจัดการกับความเสี่ยง 6. การกำหนดขั้นตอนฉุกเฉินในกรณีที่ความปลอดภัยทางชีวภาพที่ดำเนินการอยู่เกิดล้มเหลวขึ้นมา ซึ่งอาจรวมถึงข้อกำหนดในกระบวนการรายงานสิ่งที่เกิดขึ้น และมาตรการฉุกเฉินในการกำจัดเชื้อก่อโรค เช่น การทำลายสัตว์น้ำ และการฆ่าเชื้อในฟาร์มหรือสถานประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 7. ขั้นตอนการสื่อสารกับภายในและภายนอกฟาร์มหรือสถานประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บทบาทและความรับผิดชอบของบุคลากรของสถานประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และข้อมูลที่สำคัญสำหรับการติดต่อ เช่น บุคลากร นักวิชาการประมง หรือสัตวแพทย์ และหน่วยงานผู้มีอำนาจ 8. กำหนดการติดตามและตรวจสอบ (monitoring and audit schedule) 9. การประเมินผลการปฏิบัติงาน (performance evaluation) 10. ขั้นตอนการปฏิบัติงาน (standard operating procedures) ที่จำเป็นในการสนับสนุนการดำเนินการตามมาตรการบรรเทาผลกระทบที่กำหนด ที่มีความสอดคล้องกับแผนความปลอดภัยทางชีวภาพ ขั้นตอนฉุกเฉิน และข้อกำหนดเกี่ยวกับการฝึกอบรมของบุคลากรในสถานประกอบการ เนื้อหาที่กล่าวมาทั้ง 10 ข้อ เป็นสิ่งที่ต้องระบุเป็นเอกสารเรื่องการจัดทำแผนความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือ Biosecurity plan development เพื่อนำไปใช้ปฏิบัติ ตามและทำให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันของผู้ปฏิบัติงานนะคะ สำหรับองค์ประกอบสำคัญของแผนความปลอดภัยทางชีวภาพจะกล่าวถึงในบทความสุดท้ายของเรื่องนี้ค่ะ สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเมย์) |