
โปรตีนทางเลือกกับปัญหาโรค EMS ในการเลี้ยงกุ้ง ชื่อบทความ โปรตีนทางเลือกกับปัญหาโรค EMS ในการเลี้ยงกุ้ง คำสำคัญ EMS/AHPND การเลี้ยงกุ้ง โรคตายด่วนในกุ้ง (Early Mortality Syndrome; EMS) หรือ Acute hepatopancreatic necrosis disease (AHPND) มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย Vibrio parahaemolyticus ทำให้เซลล์ตับและตับอ่อน (Hepatopancreas) มีการตาย (necrosis) อย่างเฉียบพลัน โรค EMS ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียนี้ก่อให้เกิดความสูญเสียในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทั่วโลก ในปัจจุบันมีแนวทางการแก้ไขป้องกันโรค EMS ที่มีประสิทธิภาพนอกเหนือจากการใช้ยาปฏิชีวนะอยู่เพียงไม่กี่วิธีเท่านั้น ซึ่งผู้อ่านหลายท่านทราบดีว่าการใช้ยาปฏิชีวนะในระบบการผลิตสัตว์เพื่อการบริโภคไม่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค และไม่สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาการเลี้ยงสัตว์แบบยั่งยืน หลายปีที่ผ่านมามีการวิจัยและพัฒนาด้านอาหารสัตว์ให้มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาโปรตีนทางเลือก หนึ่งในงานวิจัยที่น่าสนใจคือผลการค้นคว้าของบริษัทไทยยูเนี่ยนที่ได้ร่วมมือกับ Calysta บริษัทผู้ผลิตโปรตีนทางเลือกที่เรียกว่า FeedKind ซึ่งเป็นโปรตีนเซลล์เดียวที่ผลิตขึ้นมาจากการหมักก๊าซธรรมชาติ ใช้ทรัพยากรในการผลิตน้อย ประหยัดพื้นที่ มีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนำมาใช้เป็นอาหารเลี้ยงกุ้ง และเป็นที่น่าสนใจว่าอาหารกุ้งที่มีโปรตีนนี้สามารถทำให้กุ้งมีความต้านทานเพิ่มมากขึ้นต่อการติดเชื้อ แบคทีเรีย Vibrio parahaemolyticus ซึ่งเป็นสาเหตุของโรค EMS นักวิจัยไทยได้ทดลองประสิทธิภาพของโปรตีนนี้ในอาหารกุ้งและได้พบผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจ โดยในการทดลองจะแบ่งกุ้งออกเป็น 4 กลุ่มทดลอง และมีประชากรซ้ำ 5 ชุดทดลองในแต่ละกลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 กลุ่มควบคุมที่ให้อาหารกุ้งปกติ มีปลาป่นผสม 15 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มที่ 2 กลุ่มทดลอง โดยให้อาหารกุ้ง และมี FeedKind ผสม 5 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มที่ 3 กลุ่มทดลอง โดยให้อาหารกุ้ง และมี FeedKind ผสม 10 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มที่ 4 กลุ่มทดลอง โดยให้อาหารกุ้ง และมี FeedKind ผสม 15 เปอร์เซ็นต์ ทีมวิจัยให้กุ้งกินอาหารติดต่อกัน 6 สัปดาห์ เพื่อประเมินประสิทธิภาพการเจริญเติบโต จากนั้น ให้เชื้อแบคทีเรีย Vibrio parahaemolyticus ซึ่งเป็นสาเหตุของ EMS ลงในบ่อ และเลี้ยงต่ออีก 15 วันเพื่อประเมินอัตราการรอดและความต้านทานโรค ผลการศึกษาพบว่าโปรตีนชนิดใหม่นี้ไม่ทำให้เกิดความแตกต่างในเรื่องของประสิทธิภาพการกินอาหาร น้ำหนักสุดท้าย น้ำหนักที่เพิ่มขึ้น การเพิ่มเฉลี่ยต่อวัน อัตราการเติบโตจำเพาะ หรืออัตราการรอดของกุ้งที่เลี้ยงภายใต้เงื่อนไขที่ได้ทำการทดลอง เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม เมื่อทดลองให้เชื้อแบคทีเรีย Vibrio parahaemolyticus พบว่า กลุ่มที่ได้รับอาหารที่ผสม FeedKind มีปริมาณเชื้อแบคทีเรียใน Hepatopancreas น้อยกว่า กุ้งมีอัตรารอดมากกว่า เซลล์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน เช่น จำนวนเม็ดเลือด ฟีนอลออกซิเดส ซูเปอร์ออกไซด์ ดิสมิวเตส และการทำงานของไลโซไซม์ มีความคล้ายคลึงกันในทุกกลุ่มหลังการทดลองให้อาหาร 6 สัปดาห์ ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าอาหารที่มี FeedKind สามารถแทนที่ปลาป่นในอาหารกุ้งขาวได้ และไม่ส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการเจริญเติบโต สารอาหาร และอัตราการรอดชีวิตตลอดจนอัตราการรอดของกุ้งที่ติดเชื้อแบคทีเรีย Vibrio parahaemolyticus จากการทดลองนี้จะเห็นได้ว่าสามารถนำ FeedKind มาใช้เป็นโปรตีนทางเลือกแทนปลาป่นในอาหารกุ้งได้ ซึ่งปลาป่นเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้น การเพิ่มโปรตีนทางเลือกก็จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของโลกที่มีการใช้ปลาป่นในปริมาณสูง ซึ่งจะโปรตีนทางเลือกก็จะมีส่วนในการสนับสนุนให้เกิดระบบการผลิตที่ยิ่งยืนต่อไป นอกจากนี้ ยังทำให้กุ้งสามารถเพิ่มความต้านทานต่อการติดเชื้อแบคทีเรีย Vibrio parahaemolyticus ได้ ก็จะส่งผลให้ลดการใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาโรค EMS ไปด้วยนั่นเอง อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงผลจากการทดลองเท่านั้น ยังมีความจเป็นจะต้องศึกษาเพิ่มเติมในสถานการณ์การเลี้ยงจริงต่อไปค่ะ และถ้าหากผู้อ่านอยากอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถไปหาอ่านผลงานวิจัยฉบับเต็มได้นะคะ ในวารสารวิชาการ Frontiers in Marine Science งานวิจัยเรื่อง Effects of a single cell protein methanotroph, (Methylococcus capsulatus),bacteria meal in Pacific white shrimp (Litopenaeus vannamei) diet, on growth performance, survival rate and resistance to Acute Hepatopancreatic Necrosis Disease (AHPND), Vibrio parahaemolyticus
ที่มา https://thefishsite.com/articles/a-non-medicinal-means-for-shrimp-farmers-to-combat-ahpnd-ems-calysta-feedkind-thailand สัตวแพทย์หญิง ดร.มินตรา ลักขณา (หมอเมย์) |